จาตุรนต์ ประธาน กมธ.ชายแดนใต้ ถกผลกระทบกรณีตากใบ แม่ทัพภาค 4 รับเป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ ฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การคุมฝูงชนจากนี้ต้องได้รับการอบรม เคารพสิทธิ ไม่ให้ซ้ำรอย
แถลงยก 4 ข้อดูแล พร้อมรับมือผลกระทบหลังคดีตากใบจะหมดอายุความ 25 ต.ค.นี้ “ภูมิธรรม” สั่งเฝ้าระวังการก่อเหตุ ติดตามตัวผู้กระทำผิด พร้อมป้องกันภัยจากมือที่สาม แม่ทัพภาค 4 รับเป็นความผิดพลาดของ จนท.
วันที่ 24 ตุลาคม 2567 ที่รัฐสภา นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้แถลงข่าวกรณีตากใบว่า วันนี้ได้มีการเชิญนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม แต่ได้มอบหมายให้นายฉัตรชัย บางชวด รักษาราชการแทนเลขาฯ สมช. และ พล.ท.ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 ฐานะ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้ามาชี้แจง ซึ่งก็ได้รับข้อมูลและการชี้แจงที่เป็นประโยชน์
ทั้งต่อการช่วยติดตามการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดจากกรณีตากใบ ที่กำลังจะหมดอายุความ และอาจจะไม่สามารถดำเนินคดีกับใครได้เลย รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อการที่จะหาทางสร้างสันติภาพและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้
นายจาตุรนต์กล่าวว่า พล.ท.ไพศาลได้กล่าวยอมรับว่ากรณีตากใบเป็นความผิดพลาดในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้น ฝ่ายตรงข้ามพยายามอาศัยความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ในการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านรัฐ ตนจึงต้องการให้อาศัยกระบวนการยุติธรรมในการเปิดเผยความจริง ขณะนี้ได้มีเจ้าหน้าที่ 2 คนที่อยู่ในราชการ และมีความพยายามที่จะติดตามตัวมาสู้คดีในชั้นศาล
นอกจากนี้ ได้ชี้แจงว่าพยายามกำชับให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามกฎหมาย ทางกรรมาธิการได้แสดงความกังวลที่มีเจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจไปเยี่ยมเยียนประชาชนที่เป็นโจทก์ในคดีนี้ บางคนที่ยื่นฟ้องคดีตากใบ สุไหงปาดี และเจาะไอร้อง ซึ่งชาวบ้านรู้สึกถูกคุกคาม จึงขอให้แม่ทัพภาค 4 รับรองความปลอดภัยและยุติปฏิบัติการเหล่านี้
นายจาตุรนต์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กรรมาธิการได้สอบถามว่ากองทัพภาค 4 มีการเตรียมการรับมือการจัดการฝูงชนที่มาชุมนุมอย่างสงบอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียในอนาคต ซึ่งในเหตุการณ์ตากใบมีผู้เสียชีวิตในที่ชุมนุม 7 คนที่นอกเหนือจากการเสียชีวิตระหว่างการขนส่ง
ในนี้มี 5 คนที่ถูกยิงที่ศีรษะ ซึ่งทาง พล.ท.ไพศาลชี้แจงว่าหน้าที่หลักในการควบคุมฝูงชน คือเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่ได้รับการฝึกอบรม ซึ่งตนได้ให้ข้อสังเกตว่าในการที่มีหลายหน่วยสนธิกำลังกัน แต่มีปัญหาเรื่องการรับผิดชอบ ว่าใครเป็นผู้ควบคุมสถานการณ์หลักเวลาเกิดเหตุ และใครเป็นผู้ชึ้แจงกับสาธารณะ ฝากแม่ทัพภาค 4 ดูแลทั้งการคุมฝูงชนและการบังคับใช้กฎหมาย ดูแลให้เกิดความยุติธรรมต่อไป
นายจาตุรนต์กล่าวอีกว่า ในส่วนของรักษาราชการแทนเลขาฯ สมช.ได้ให้ข้อมูลในเรื่องนี้อย่างครอบคลุมดีมากพอสมควร โดยกล่าวว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้กล่าวคำขอโทษและเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ตากใบ และทางตำรวจได้พยายามติดตามบุคคลเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในระดับหนึ่ง
โดยมีข้อสั่งการของนายภูมิธรรมให้เฝ้าระวังการก่อเหตุและติดตามตัวผู้กระทำผิด รวมทั้งการยกระดับการเตรียมการเพื่อรับมือการชุมนุม โดยเคารพสิทธิเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและป้องกันภัยจากมือที่สาม
ทั้งนี้ หลังวันที่ 25 ต.ค. เมื่อคดีหมดอายุความ ได้เตรียมการในประเด็นสำคัญที่จะรับมือผลกระทบที่จะตาม 4 เรื่องคือ 1.มีการคาดการณ์ว่าจะก่อเหตุความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งภาครัฐเฝ้าระวังพื้นที่อย่างเข้มข้นมากขึ้น
นายจาตุรนต์กล่าวว่า 2.มีการกำชับระดับหน่วยปฏิบัติให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำบุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการห้ามซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัย 3.ดำเนินกระบวนการเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีกรณีตากใบ ซึ่งจะรู้ว่ายังจะมีอะไรที่เพิ่มเติมได้อีกบ้าง นอกเหนือจากการเยียวยาที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ และดำเนินการเมื่อนานมาแล้ว
4.กระบวนการพูดคุย รัฐจะเดินหน้าเพื่อขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุย และการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในส่วนของการพูดคุยและสร้างสันติภาพระยะต่อไปในภาพรวม เลขาฯ สมช.ชี้แจงว่าได้เตรียมการทำข้อเสนอต่อรัฐบาล
โดย สมช.เสนอตั้งคณะพูดคุยสันติสุขใหม่ โดยภาครัฐยินดีที่จะเปิดพื้นที่อย่างสร้างสรรค์ โดยดำเนินการภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ และยังให้ข้อมูลอีกว่านายมูฮัมหมัด ราบิน บาเซีย ฝ่ายมาเลเซีย ซึ่งจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยมีความจริงจังอย่างไม่เคยมีมาก่อนในรอบหลายปี และฝ่ายภาครัฐกำลังพิจารณาลดการใช้กฎหมายพิเศษ และอาจออกกฎหมายอื่นใช้แทน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
นายจาตุรนต์กล่าวอีกว่า ตนได้ฝากความเห็นไปยังเลขาฯ สมช. ควรรีบสรุปบทเรียนจากเหตุการณ์ตากใบที่ผ่านมา ตั้งแต่การควบคุมดูแลการชุมนุม การปฏิบัติต่อผู้ชุมนุม การดำเนินคดี ซึ่งเรื่องเหล่านี้ในช่วงขั้นตอนการควบคุมการชุมนุม และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เป็นบาดแผลที่สำคัญของสังคมไทยไปรอบหนึ่งแล้วในทางความรู้สึกของประชาชน ต่อมาเมื่อพบว่ามีความพยายามที่จะดำเนินคดี และสามารถดำเนินคดีได้ในระยะหลังนี้
ในที่สุดพบว่าไม่สามารถดำเนินคดีใครได้เลย เนื่องจากคดีกำลังจะหมดอายุความ ก็จะเป็นบาดแผลที่สำคัญร้ายแรงมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ควรจะสรุปบทเรียนตั้งแต่เกิดเหตุการณ์การชุมนุม การดูแลการชุมนุม การบังคับใช้กฎหมายและการดำเนินคดี เพื่อให้เกิดความยุติธรรมที่ล้มเหลวไป เพื่อที่จะหาทางทั้งเยียวยาเพิ่มเติม และหานโยบาย มาตรการ วิธีการในการดูแลผู้ชุมนุม การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างยุติธรรม ที่สำคัญทำให้กระบวนการยุติธรรมสามารถใช้ในการให้ความยุติธรรมและเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะประชาชนได้จริง ซึ่งจะเป็นการรื้อฟื้นความเชื่อถือ ความไว้วางใจต่อกระบวนการยุติธรรม
“ขอให้เลขาฯ สมช.รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลและนำเสนอรัฐบาล และคณะกรรมาธิการ ขอให้ทุกฝ่ายงดใช้ความรุนแรง และใช้พื้นที่ทางการเมืองในการแสดงออก และทราบว่าทางฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะ สมช.เห็นความสำคัญการพูดคุยสันติภาพ และการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีส่วนรับรู้ สามารถแสดงความคิดเห็นต่อการพูดคุยมากขึ้น
ทั้งนี้ จะเชิญหน่วยงานด้านความมั่นคงมาหารือกับกรรมาธิการเร็ว ๆ นี้ แต่ไม่ใช่เฉพาะผลกระทบกรณีตากใบ แต่จะเชิญมาสอบถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นยุทธศาสตร์และนโยบายการดำเนินการแก้ปัญหาความขัดแย้ง การพูดคุยสร้างสันติภาพชายแดนใต้ เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่สด ๆ ร้อน ๆ มาประกอบรายงานช่วงท้าย และได้ข้อมูลที่สมบูรณ์มากที่สุด“ นายจาตุรนต์กล่าว
ข้อมูล/ภาพ : ประชาชาติ