“แพทองธาร” แนะใช้ประโยชน์จาก AI อย่างรับผิดชอบ “ประเสริฐ” ยกระดับความเข้มข้น เสนอนายกฯ นั่งประธานปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เหตุสร้างความเสียหายให้ประเทศ เตรียมลงนาม MOU ประเทศเพื่อนบ้านแก้ปัญหา
วันที่ 16 มกราคม 2568 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 5 ที่โรงแรมอวานี พลัส ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ โดย น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ขอต้อนรับผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนสู่ประเทศไทย การก้าวเข้าสู่ปีใหม่เป็นโอกาสที่สมาชิกอาเซียนจะมาร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ เกี่ยวกับการร่วมมือกันเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคให้มั่นคง ยั่งยืน เพราะขณะนี้การหลอกลวงทางออนไลน์ เป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงต่อประชาชน ต้องอาศัยความร่วมมือในการแก้ปัญหา เพื่อสร้างความปลอดภัยในโลกดิจิทัล และเสริมสร้างความเชื่อมั่นของประชาชน
นายกรัฐมนตรี ระบุต่อไปว่า ปัญหาเรื่องข่าวปลอมและการบิดเบือนข้อมูลบั่นทอนความเชื่อมั่นของสังคม ขอเสนอให้อาเซียนพัฒนากลไกที่เข้มแข็งในการตรวจสอบและควบคุมข้อมูลออนไลน์ และเสนอให้ใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยขอให้ใช้เทคโนโลยี AI อย่างครอบคลุมและมีความรับผิดชอบ ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับโลกว่าด้วยธรรมาภิบาลของ AI (Global Forum on the Ethics of AI) ร่วมกับองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ในเดือนมิถุนายน จึงเชิญชวนผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วม อย่างไรก็ตาม การทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดของอาเซียน สามารถเปลี่ยนวิกฤติต่างๆ ให้กลายเป็นโอกาส และสร้างการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หวังว่าการประชุมครั้งนี้จะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์และนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม
ทางด้าน นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า จากการที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัลครั้งที่ 5 ได้เน้นย้ำเรื่องการปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งกระทรวงดิจิทัลฯ ดำเนินการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศแล้วในระดับหนึ่ง และการประชุมครั้งนี้จะมีการขยายผลและพูดคุยกันในประเด็นนี้อีกครั้ง
นายประเสริฐ กล่าวต่อไปว่า การที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งนี้มีรัฐมนตรีด้านดิจิทัลในอาเซียนมาร่วมประชุม นอกจากนี้ ยังมีประเทศคู่เจรจา เจ้าหน้าที่อาวุโสได้มาพูดคุยในหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรักษาความปลอดภัย และการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้พื้นฐานด้านดิจิทัล และเทคโนโลยีในด้านต่างๆ รวมทั้งตอบสนองและรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ รวมถึงการใช้ AI และการประชุมครั้งนี้ยังให้ความสำคัญการให้ประชาคมอาเซียนเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยจะมีการหารือถึงวันที่ 17 มกราคมนี้ ส่วนการหารือประเด็นการป้องกันอาชญากรรมตามแนวชายแดน เห็นว่าในเรื่องนี้ได้มีการเจรจากับประเทศสมาชิกอาเซียนซึ่งติดกับชายแดนไทย โดยการประชุมครั้งนี้จะมีการพูดคุยกับเมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา เพื่อแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยจะมีการทำ MOU ระหว่างกัน
ขณะที่กรณีนายกรัฐมนตรีถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวง จะมีมาตรการดูแลเรื่องนี้เป็นพิเศษหรือไม่ เพราะผู้นำประเทศเจอกับตัวเอง นายประเสริฐ ระบุว่า เรื่องนี้มีศูนย์ที่ดูแลอยู่แล้ว ซึ่งเป็นศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม และยังมีศูนย์ AOC สายด่วน 1441 แต่ข้อเสนอล่าสุดของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) คือการยกระดับความเข้มข้นของการปราบปรามมากยิ่งขึ้น โดยให้มีองค์ประกอบที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งได้มีการเสนอเรื่องนี้ไปแล้วว่าปัญหานี้เป็นปัญหาสำคัญ และทำความเสียหายให้กับประเทศชาติ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องยกระดับความสำคัญของปัญหานี้ขึ้นมาอีกระดับ นั่นคือการปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการ
นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่ประเทศเพื่อนบ้าน หม่องชิตตู่ ผู้นำกองกำลัง BGF ฝั่งเมียวดี ประชุมผู้ประกอบการธุรกิจชาวจีนแก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ว่าเรื่องนี้ประเทศเพื่อนบ้านก็ได้รับความเสียหายเช่นกัน ดังนั้น ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการที่จะมาทำงานร่วมกัน และมองว่าปัญหานี้เป็นภัยคุกคามของประชาชนในอาเซียนด้วย ซึ่งวันนี้จากการพูดคุยกับรัฐมนตรีด้านดิจิทัลในกลุ่มอาเซียน เห็นว่าทุกประเทศอาเซียนก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ทั้ง สปป.ลาว และไทย ก็ถูกแก๊งมิจฉาชีพข้ามมาเอาไทยเป็นฐานหลอกลวงประชาชนคนลาว ขณะนี้ที่คนไทยก็ข้ามไปที่ฝั่ง สปป.ลาว หรือกัมพูชา เพื่อมาหลอกลวงคนไทย ทุกประเทศจึงจะให้ความร่วมมือกัน ประเทศไทยถือว่าเป็นประธานแก้ปัญหา โดยปลัดกระทรวงดีอีได้ทำงานมาต่อเนื่อง 1 ปีแล้วในการเจรจาและยกระดับความเข้มข้นขึ้น และการประชุมครั้งนี้ ก็ยังมีการหารือปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยจะเป็นหัวข้อหนึ่งที่จะมีการพูดคุยกัน
ข้อมูล/ภาพ : ไทยรัฐ