เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวอ่อนค่าลง ในลักษณะ Sideways Up หลังเงินดอลลาร์ และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ต่างปรับตัวสูงขึ้น ตามรายงานข้อมูลการจ้างงานล่าสุดของสหรัฐฯ ที่ออกมาแข็งแกร่งและดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างเชื่อว่า เฟดมีโอกาสเพียง 15% ที่จะลดดอกเบี้ยได้ 2 ครั้งในปีนี้
ปัจจัยในประเทศตลาดจะรอลุ้นรายงานผลการดำเนินงานของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะกลุ่มการเงิน ซึ่งอาจช่วยพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของตลาดหุ้นไทยได้บ้าง นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) ในเดือนธันวาคม
สำหรับแนวโน้มเงินบาท ยังมีโอกาสทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ตราบใดที่ เงินบาทไม่ได้กลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจนทะลุโซนแนวรับ 34.20-34.30 บาท/ดอลลาร์ อย่างชัดเจน
นายพูน มองกรอบเงินบาทวันนี้ จะอยู่ที่ระดับ 34.65-34.80 บาท/ดอลลาร์
- เงินเยน อยู่ที่ระดับ 157.47 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 157.85/87 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโร อยู่ที่ระดับ 1.0240 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 1.0304/0305 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 34.600 บาท/ดอลลาร์
- “คลัง” ฟันธงจีดีพีปี 68 โตไม่ต่ำกว่า 3% เร่งอัดมาตรการกระตุ้นบริโภค-ลงทุน ลุยทบทวนสวัสดิการรัฐปูพรมแนวคิด NIT ด้านเอสเอ็มอีลุ้นธุรกิจยังทรงตัว ห่วงสินค้าต่างชาติทะลักกำลังซื้อวูบกระทบ
- “สมาคมตราสารหนี้” จ่อคลอด “เกณฑ์ใหม่” คุมออก “หุ้นกู้ไฮยีลด์” หวังสกัดความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ เพื่อเร่งฟื้นคืนความเชื่อมั่น-ปกป้องผลประโยชน์นักลงทุน
- สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว ชี้ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 โหมดอันตรายซ้ำเติมความเชื่อมั่นปลอดภัยฉุดการท่องเที่ยว บี้รัฐเร่งแก้ไข-หาทางป้องกัน
- กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 256,000 ตำแหน่งในเดือนธ.ค. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 154,000 ตำแหน่ง หลังจากเพิ่มขึ้น 212,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ย. ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 4.1% ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 4.2%
- มหาวิทยาลัยมิชิแกนเปิดเผยผลสำรวจระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 73.2 ในเดือนม.ค. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 74.0 จากระดับ 74.0 ในเดือนธ.ค. ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 3.3% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2567 และเพิ่มขึ้นจากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนธ.ค.ที่ระดับ 2.8%
- ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในมุมมองผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาผู้บริโภค ยอดค้าปลีก ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้าน และการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนธ.ค. ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียเดือนม.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
- บรรดานักลงทุนจะจับตาดูการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ ในวันที่ 15 ม.ค.นี้ ซึ่งอาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดเพิ่มเติม หากตัวเลขเงินเฟ้อดังกล่าวออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้
- กรรมการจัดการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2568 จะเผชิญกับความไม่แน่นอนมากขึ้น อันเนื่องมาจากนโยบายเศรษฐกิจโดยเฉพาะทิศทางของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ
- กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จะเปิดเผยรายงานคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook – WEO) ในวันที่ 17 ม.ค.นี้ ซึ่งคาดว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจะยังคงทรงตัว และอัตราเงินเฟ้อจะยังคงลดลง
ข้อมูล/ภาพ : สำนักข่าวอินโฟเควสท์