เครือข่ายประชาชน19 จังหวัด ยื่นหนังสือรัฐบาลและบริษัทเอกชน จี้เร่งรัดการจัดการปัญหาปลาหมอคางดำ และความรับผิดชอบ ชี้ต้องรอผลสรุปทางกฏหมายตามกระบวนการ
รายงานข่าว (13 ม.ค. 2568) เครือข่ายประชาชน 19 จังหวัดได้เข้ายื่นหนังสือเรียกร้อง ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล ณ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอให้เร่งรัดและแสดงความรับผิดชอบในการจัดการปลาหมอคางดำต่อรัฐบาลและบริษัทเอกชน
โดยได้ยื่นข้อเรียกร้อง 4 ข้อ ได้แก่ ขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนอิสระ หาผู้กระทำความผิดให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ให้รัฐบาลเร่งรัดการเยียวยาเกษตรกรและผู้ที่ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติและคณะทำงานระดับจังหวัด ขจัดปลาหมอคางดำให้เป็นศูนย์ภายในปี 2569 และฟ้องร้องผู้ก่อปัญหาให้ชดใช้เยียวยาความเสียหาย
ทั้งนี้ในส่วนของบริษัทเอกชน ตัวแทนฝ่ายบริหารได้ออกมารับหนังสือและกล่าวขอบคุณเครือข่ายฯ ที่มาเยี่ยมเยือน พร้อมยืนยันว่าจะนำประเด็นต่าง ๆ เสนอฝ่ายบริหารพิจารณาต่อไป
บริษัทได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตระหนักถึงสถานการณ์ปลาหมอคางดำที่เกิดขึ้น ได้ติดตามและให้การสนับสนุนร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในแต่ละท้องที่เพื่อดำเนินการจัดการปัญหา โดยยืนยันว่าเคารพสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของทุกฝ่ายเสมอ ตราบใดที่ความคิดเห็นดังกล่าวไม่เป็นข้อมูลที่เป็นเท็จหรือบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาธารณะ
สำหรับความคืบหน้าในประเด็นทางกฎหมาย บริษัทชี้แจงว่าปัจจุบันยังอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาคดี เนื่องจากบริษัทเองก็เป็นฝ่ายที่ถูกฟ้องร้องโดยกลุ่มเกษตรกร ดังนั้น บริษัทจึงขอให้ทุกฝ่ายรอการพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามกระบวนการทางกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ยืนยันว่าไม่ได้เป็นต้นเหตุของปัญหาตามที่ถูกกล่าวหา และได้ดำเนินการทุกขั้นตอนตามกฎหมาย โดยในช่วงที่ผ่านมา บริษัทได้ให้ความร่วมมือกับกรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจับปลาและการสนับสนุนการวิจัย ตลอดจนร่วมมือกับภาครัฐในการแก้ไขสถานการณ์จนถึงปัจจุบัน โดยกิจกรรมต่างๆ รวมถึง กิจกรรมลงแขกลงคลอง ร่วมจับปลาหมอคางดำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ
โครงการร่วมกับโรงงานปลาป่นในการรับซื้อปลาหมอคางดำจำนวน 2 ล้านกิโลกรัมจนแล้วเสร็จ โครงการสนับสนุนปล่อยปลาผู้ล่ากับกรมประมง โดยมอบปลาผู้ล่า จำนวน 200,000 ตัว เพื่อปล่อยลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ ตามแนวทางที่กรมประมงวางไว้ โครงการสนับสนุนส่งเสริมการนำปลาหมอคางดำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น น้ำปลาหับเผย ปลาร้า เป็นต้น และโครงการวิจัยเทคโนโลยีควบคุมประชากรปลาร่วมกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานภาครัฐที่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทดสอบประสิทธิผลของการวิจัย
ล่าสุดนั้น กรมประมงได้รายงานเมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมาว่า เมื่อปลายปีได้มีการจัดงบประมาณสำหรับการจัดซื้อรวมถึงปล่อยปลานักล่า และนำปลาที่จับจากธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ โดยข้อมูลที่เคยมีการแพร่กระจายใน 19 จังหวัดนั้น พบว่า มี 3 จังหวัดที่ไม่มีการแพร่กระจายแล้ว ส่วน 16 จังหวัดที่เหลือจากสถานการณ์วิกฤตในธรรมชาติที่เคยเป็นสีแดง ได้ลดลงอยู่ที่สีเหลืองและสีเขียว แต่ในบ่อเลี้ยงของเกษตรกรที่มีการพบปลาหลุดเข้าไปนั้น ก็จะต้องกำจัดออก
ข้อมูล/ภาพ : ฐานเศรษฐกิจ