วันนี้ (1 พฤษภาคม 2568) นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความสุขโลกประจำปี 2025 ของ อิปซอสส์ (IPSOS) บริษัทวิจัยตลาดระดับโลก ซึ่งระบุว่า ประเทศไทย ติดอันดับที่ 7 ของประเทศที่ประชากรมีความสุขที่สุด จากการสำรวจประชากร 23,765 คน ใน 30 ประเทศ ระหว่างวันที่ 20 ธันวาคม 2567 ถึง 3 มกราคม 2568 โดยพบว่า คนไทยส่วนใหญ่มีระดับความสุขอยู่ในเกณฑ์ดี รัฐบาลจึงเดินหน้ายกระดับคุณภาพชีวิตและขับเคลื่อนสุขภาวะในทุกช่วงวัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความสุขอย่างยั่งยืนให้กับประชาชน
ผลสำรวจดังกล่าวจัดระดับความสุขของประชาชนออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ มีความสุขมาก ค่อนข้างมีความสุข ไม่มีความสุข และไม่มีความสุขเลย สำหรับประเทศไทยพบว่า ร้อยละ 18 ของประชากรระบุว่ามีความสุขมาก ร้อยละ 61 ค่อนข้างมีความสุข ร้อยละ 19 ไม่มีความสุข และมีเพียงร้อยละ 2 เท่านั้นที่ระบุว่าไม่มีความสุขเลย ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงสภาพจิตใจและคุณภาพชีวิตของคนไทยในภาพรวมที่ยังคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ
เมื่อพิจารณาเฉพาะกลุ่มประเทศเอเชียที่เข้าร่วมการสำรวจ 7 ประเทศ ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 3 รองจากอินเดียและอินโดนีเซีย โดยมีประเทศที่มีระดับความสุขใกล้เคียงได้แก่ มาเลเซีย ซึ่งครองอันดับเท่ากันกับไทย ตามมาด้วยสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ตามลำดับ ทั้งนี้ สะท้อนถึงแนวโน้มที่ดีในระดับภูมิภาค แม้แต่ในท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยหลักที่ส่งเสริมความสุขของประชาชนมี 3 ประการ ได้แก่ การใช้เวลาร่วมกับครอบครัวและบุตร การได้รับการยอมรับและความรักจากผู้อื่น และการมีความสามารถในการควบคุมชีวิตของตนเอง ในทางตรงกันข้าม ปัจจัยที่ส่งผลให้ระดับความสุขลดลง ได้แก่ ปัญหาทางการเงิน ปัญหาสุขภาพจิต และปัญหาสุขภาพร่างกายโดยรวม
ในแง่ของกลุ่มอายุ ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าผู้มีอายุ 70 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มที่มีระดับความสุขสูงที่สุด โดยสะท้อนถึงการมีประสบการณ์ชีวิตและความมั่นคงในด้านต่าง ๆ ในขณะที่ในกลุ่ม เจเนอเรชัน Z (Gen Z) พบว่าเพศชายมีระดับความสุขสูงกว่าเพศหญิงในช่วงวัยเดียวกัน ซึ่งอาจเกี่ยวเนื่องกับความแตกต่างด้านโอกาสและประสบการณ์ทางสังคม
รัฐบาลไทยในปัจจุบันตระหนักถึงบทบาทสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในทุกมิติ โดยดำเนินนโยบายยกระดับบริการสาธารณสุข ส่งเสริมความมั่นคงทางรายได้ และสร้างเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังเร่งผลักดันโครงการเสริมสร้างสุขภาวะยั่งยืนสำหรับกลุ่มวัยทำงานและผู้สูงอายุ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรในอนาคต
การเข้าใจปัจจัยที่ส่งผลต่อความสุข และการตอบสนองผ่านนโยบายเชิงรุก ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนสังคมไทยสู่การเป็นประเทศที่มีความสุขและยั่งยืนอย่างแท้จริง
ข้อมูล : thaigov