ข้อพิพาทเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูลบนระบบ บริการยื่นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการนำเข้าส่งออก หรือ National Single Window (NSW) ระหว่าง บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) และ บมจ.เน็ตเบย์ ผู้ให้บริการด้านการแลกปลี่ยนข้อมูลและบริการเอกสารสำนักงาน เริ่มขึ้น NT เรียกร้องให้ เน็ตเบย์ จ่ายค่าบริการเชื่อมโยงข้อมูลย้อนหลัง โดยระบุว่าเริ่มให้บริการระบบเชิงพาณิชย์ตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2566 ขณะที่ เน็ตเบย์ เรียกร้องว่าค่าบริการแพงไปไม่สมเหตุสมผล และมีการออกมาตอบโต้กันไปมาตามที่ “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานไปก่อนหน้านี้
ล่าสุดเน็ตเบย์แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า บริษัทได้รับการต่ออายุการใช้งาน Collaborations Protocol Agreement (CPA) โดยกรมศุลกากรในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลระบบ NSW ไปจนถึงวันที่ 25 เมษายน 2568
ทำให้บริษัทดำเนินการให้บริการลูกค้าและพันธมิตรทุกราย รวมถึงดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่อง โดยไม่ส่งผลกระทบและความเสียหายใด ๆ ต่อระบบการนำเข้า ส่งออก และโลจิสติกส์ของประเทศ
นอกจากนี้ ยังจะมุ่งมั่นบริหาร “ความเสี่ยง” ด้านต่าง ๆ เพื่อรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงในการดำเนินธุรกิจ เช่น การขยายความร่วมมือกับ NSW Service Provider (NSP) รายอื่น ๆ ที่น่าเชื่อถือและมีคุณภาพ
สำหรับบริการการเชื่อมโยงข้อมูลให้ลูกค้ากลุ่มโลจิสติกส์ เพื่อการนำเข้าส่งออกโดยเฉพาะการขนส่งทางบก เป็นหนึ่งในรายได้หลักของเน็ตเบย์ในลักษณะที่เรียกว่า Recurring
“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “กอบกาญจนา วีระพงษ์ประดิษฐ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน) ถึงทิศทางธุรกิจดังนี้
ฉายภาพเน็ตเบย์ 3 ยุค
“กอบกาญจนา” กล่าวว่า รายได้ของเน็ตเบย์ กว่า 90% มาจากรายได้ประจำต่อเนื่อง หรือ Recurring ซึ่งเกิดจากการเข้าไปแก้โจทย์ที่ธุรกิจและองค์กรเผชิญได้อย่างตรงจุด โดยบริษัทจะมองระบบนิเวศของเทคโนโลยีเป็นหลักว่าช่วยอะไรได้บ้าง
“วงจรของการให้บริการเทคโนโลยี มี 4 แบบ คือ Information, Innovation, Integration และ Interexchange ลูกค้าแต่ละรายมีโจทย์ที่แตกต่างกัน บางรายอาจต้องใช้ทุกโซลูชั่นตั้งแต่การจัดการข้อมูลเอกสาร การนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ เราจะบูรณาการระบบ และแลกเปลี่ยนกับหน่วยงานหรือองค์กรอื่น ๆ ให้ บางรายก็ต้องการเพียงแค่การบูรณาการระบบและการเชื่อมโยงข้อมูล”
พื้นฐาน “เน็ตเบย์” ให้บริการลูกค้าในรูปแบบ Software as a Service (SaaS) และให้บริการบนระบบ Cloud Computing เพื่อเชื่อมต่อกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชน โดยเก็บค่าบริการจากผู้ใช้บริการภาคเอกชน ดังนั้น ธุรกิจหลักจึงเน้นไปทางด้าน B2G เป็นหลัก
“นอกจากการสร้างรายได้และธุรกิจให้เติบโตแล้ว เรายังพัฒนาเทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์มที่ดีที่สุดให้ลูกค้า และสร้างเสริมทีมงานให้มีประสบการณ์ ความสามารถให้ทำงานออกมาได้อย่างดี เน็ตเบย์เป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญ และเป็นผู้ให้บริการ Digital Platform End-to-End Document Management Solutions ที่เป็นที่ไว้วางใจจากลูกค้า
เรามี 3 Chapter ในยุคแรก เรามุ่งเน้นการเชื่อมโยงข้อมูลรัฐกับกลุ่มโลจิสติกส์ แต่เมื่อเข้าสู่ Chapter ที่สอง เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้าสู่ยุคใหม่ แม้รายได้หลักจะเข้ามาต่อเนื่อง แต่ก็ต้องบริหารความเสี่ยงด้วยการเข้าไปทำธุรกิจในกลุ่มอื่น ๆ สัดส่วนลูกค้าโลจิสติกส์ลดลงเหลือ 50% จากเดิมที่มีถึง 70-80%”
และด้วยความที่เป็นผู้ให้บริการ Digital Platform End-to-End Document มี Application Suit ที่ตอบโจทย์การทำงานหลายแบบ อย่าง iBox ที่เข้ามาช่วยทรานส์ฟอร์มสถานที่ทำงานให้ไร้รอยต่อขึ้น
ทั้ง iBox 2sign ระบบเซ็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ที่ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำให้ลายเซ็นที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย เวิร์กโฟลว์ลายเซ็นอัตโนมัติ รองรับอุปกรณ์พกพา รวมถึง e-TAX ที่แปลงเอกสารทางภาษีอัตโนมัติ การสร้างเอกสาร PDF-A3 จัดการเอกสารที่ง่ายดาย เชื่อมต่อที่ราบรื่น จัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์ที่ปลอดภัย เป็นต้น
รักษารายได้ประจำ โต 2 หลัก
ปัจจุบัน เน็ตเบย์ มีบริษัทย่อย 2 บริษัท คือ บริษัท เคลาด์ ครีเอชั่น จำกัด และบริษัท ฟินเน็ต เวนเจอร์ส จำกัด เน็ตเบย์ถือหุ้น 100%
โดย เคลาด์ ครีเอชั่น เป็นผู้ให้บริการระบบบริหารจัดการข้อมูล Gateway ระหว่างสถาบันการเงิน ผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา 16 และสำนักงาน ปปง. เพื่อสนับสนุนการส่งรายงานธุรกรรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเป็นหลัก
ขณะที่ บริษัท ฟินเน็ต เวนเจอร์ส จำกัด เน้นให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มแบบครบวงจรภายใต้แนวคิด “Enhance Business with Smart Compliance Solution” ใช้ชื่อแพลตฟอร์มว่า “Check+” เป็นการพัฒนา Feature ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากแพลตฟอร์ม CDD Gateway เพื่อให้บริการกับกลุ่มสถาบันการเงิน ผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา 16 และกลุ่มผู้ประกอบการอื่น ๆ ที่มีความต้องการนำ IT Compliance เข้าไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพ และยกระดับการทำงานให้ดียิ่งขึ้น รองรับการปฏิบัติตามกฎหมายที่ถูกต้อง
และในปี 2568 ฟินเน็ตจะเน้นการขยายธุรกิจเพื่อให้บริการแพลตฟอร์มไปยังผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา 16 ได้แก่ กลุ่มสถาบันการเงิน และกลุ่มอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
“โฟกัสของเรายังรักษาการเติบโตของรายได้หลักที่เป็น Recurring 90% โดยเฉลี่ยโต 10-15% ต่อปี อีกส่วนคือ 10% รายได้จากโครงการเฉพาะ ปัจจัยที่สนับสนุนให้เติบโตในระดับ 2 หลัก มาจากการขยายการรับงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เพิ่มมากขึ้น”
“ซีอีโอเน็ตเบย์” กล่าวถึงเป้าหมายในปี 2568 ด้วยว่า ยังคงรักษาการเติบโตของรายได้ในระดับ 15-17% พร้อมไปกับการเริ่ม Chapter ใหม่ คือ การแสวงหาพันธมิตรเพื่อ “เติบโตจากภายนอก” เช่น ในไตรมาสที่ 2/2568 จะร่วมกับพันธมิตร ทำ Garage Lending เป็นแพลตฟอร์มสำหรับอู่ซ่อมรถและบริษัทประกันภัย บริษัทร่วมทุนใหม่จะเข้ามาให้บริการกับอู่หรือเอสเอ็มอี ที่ต้องการเงินสินเชื่อเพื่อดำเนินธุรกิจ เนื่องจากอู่ซ่อมรถต้องซ่อมรถเสร็จก่อนจึงไปเบิกเงินจากประกันได้ จึงจะอาศัยช่องว่างตรงนี้มาให้บริการ โดยประสานจุดแข็ง เช่น ข้อมูลประกันภัย และประมวลผลข้อมูลแวดล้อมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นจากแหล่งเงินทุนให้กับเอสเอ็มอี
นอกจากนี้ ยังมีโครงการพิเศษที่ร่วมทำกับ Ditto ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญอย่าง Smart Zoo เฟสที่ 2-3 ก็จะเข้ามาเติมรายได้ส่วนที่ไม่ใช่ Recurring ด้วย
บทใหม่กับ 5 กลยุทธ์เร่งโต
“ปีนี้เริ่มเห็นภาพชัดแล้วว่าเราได้พันธมิตรที่แข็งแกร่งอย่าง Ditto, TEAMG รวมถึง SITEM ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่เบื้องหลังโครงสร้างพื้นฐานไอทีให้บริษัทเทคยักษ์ใหญ่จำนวนมาก พันธมิตรเหล่านี้ป้อนงานให้เราในโครงการพิเศษต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มสัดส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ Recurring”
กลยุทธ์ในการเติบโตในปี 2568 มี 5 แกน คือ 1.เติบโตจาก Recurring Base เป็น Organic Growth 2.สร้างนวัตกรรมและ Product ใหม่ ๆ 3.เติบโตจากการทำงานร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ 4.เติบโตจากการทำงานร่วมกับพันธมิตรด้านโซลูชั่น และ 5.เติบโตจากการทำโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (In-organic Growth)
ในส่วนที่เป็นการเติบโตแบบ In-organic Growth จะเป็นโฟกัสใหม่ เรียกว่า Chapter ใหม่ ที่จะทำให้รายได้เติบโตได้ดี และ “ลดความเสี่ยง” โดยโครงการที่น่าสนใจในอนาคตยังมีอีกมาก ทั้งในกลุ่มการเงิน ประกันภัย รวมถึงเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม โซลูชั่นเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิตและอื่น ๆ
ดังนั้น แม้ปัจจุบันจะมีพันธมิตรรายสำคัญอยู่แล้วก็จะแสวงหาพันธมิตรเพิ่มเติมทั้งในและต่างประเทศ เพื่อโฟกัสใหม่ที่อยากเร่งสปีดการเติบโตให้มากกว่าการได้รับรายได้ประจำ
ข้อมูล/ภาพ : ประชาชาติ