ออสเตรเลีย อนุมัติกฎหมาย ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี เล่นโซเชียลมีเดีย ซึ่งถือเป็นหนึ่งกฎหมายแบนโซเชียลมีเดีย ที่เข้มงวดที่สุดในโลก และอาจส่งผลกระทบต่อบิ๊กเทคยักษ์ใหญ่หลายราย ที่ต้องดำเนินการจำกัดอายุผู้ใช้งานตามกฎหมายใหม่
กฎหมายดังกล่าว จะมีผลให้บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ตั้งแต่ อินสตาแกรม (Instagram) และเมตา (Meta) บริษัทแม่เฟซบุ๊ก ไปจนถึงติ๊กต็อก (TikTok) ต้องดำเนินการห้ามให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 16 ปี เข้าถึงโซเชียลมีเดีย
หากละเมิดจะมีโทษปรับสูงสุด 49.5 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (32 ล้านดอลลาร์) และทดลองใช้กฎหมายนี้จะมีผลในเดือนม.ค.2568 โดยจะบังคับใช้เพียง 1 ปี
กฎหมายอายุขั้นต่ำในการใช้โซเชียลมีเดีย ทำให้ออสเตรเลียกลายเป็นต้นแบบของการทดสอบกฎหมาย สำหรับหลายรัฐบาลที่ได้ออกกฎหมายหรือมีแผนจะออกกฎหมายจำกัดอายุการใช้โซเชียล ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพจิตของคนรุ่นใหม่
การผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวหลังจากผ่านการหารือมาอย่างยาวนานในวันสุดท้าย ถือเป็นชัยชนะทางการเมืองสำหรับนายกรัฐมนตรีแอนโทนี อัลบาเนซี ของออสเตรเลีย ที่จะลงสมัครเลือกตั้งในปี 2568 ท่ามกลางคะแนนนิยมที่ลดลง
แม้กฎหมายดังกล่าวถูกคัดค้านจากกลุ่มผู้สนับสนุนเอกชน และกลุ่มสิทธิเด็กบางกลุ่ม แต่จากการสำรวจล่าสุดพบว่า 77% ของประชากรต้องการให้กฎหมายนี้ได้รับการอนุมัติ
บริษัทโซเชียลกังวลเรื่องกฎหมาย
ตัวแทนจากบริษัทเมตา ออกมาบอกว่า บริษัทเคารพกฎหมายของออสเตรเลีย แต่มีความกังวลเกี่ยวกับกระบวนการอนุมัติกฎหมายที่เร่งให้มีการตรากฎหมาย โดยมีความล้มเหลวในการพิจารณาหลักฐานอย่างเหมาะสม ทั้งการดำเนินการมอบประสบการณ์ที่เหมาะสมตามวัย และความคิดเห็นจากคนรุ่นใหม่
ตัวแทนจากเมตาระบุว่า ภารกิจของบริษัทตอนนี้คือ ทำให้มั่นใจว่า มีการปรึกษาหารือเรื่องกฎระเบียบที่เกี่ยวกับกฎหมายอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้แน่ใจว่าผลลัพธ์ทางเทคนิคไม่สร้างภาระให้พ่อแม่ และวัยรุ่น และมีความมุ่งมั่นว่ากฎเกณฑ์ต่างๆ จะถูกนำไปใช้กับแอปโซเชียลอย่างสอดคล้องกัน
สแนป (Snap) บริษัทแม่สแนปแชต (Snapchat) เผยว่า จะปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบในออสเตรเลีย แต่ได้แสดงความกังวลอย่างมากต่อกฎหมายที่เพิ่งได้รับการอนุมัตินี้ โดยตัวแทนจากสแนประบุในอีเมลว่า
“แม้มีคำถามมากมายที่ยังไม่ได้รับคำตอบว่า ในทางปฏิบัติกฎหมายนี้จะถูกนำไปใช้อย่างไร เราจะมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาล และคณะกรรมาธิการด้านความปลอดภัยทางอิเล็กทรอนิกส์ตลอดระยะเวลาบังคับใช้กฎหมาย 12 เดือนอย่างไร เพื่อช่วยพัฒนาแนวทางที่สร้างสมดุลระหว่างความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัย และการใช้งานจริง”
หลายบริษัท รวมทั้งกูเกิล (Google) ของอัลฟาเบท (Alphabet) ได้ออกมาโต้แย้งก่อนหน้านี้ว่า ควรเลื่อนการอนุมัติกฎหมายไปก่อน จนกว่าจะมีผลการทดลองเกี่ยวกับระบบยืนยันอายุเข้าใช้โซเชียลมีเดีย ขณะที่ยูทูบในเครือของกูเกิล ได้รับการยกเว้นในกฎหมาย เพราะเป็นช่องทางที่สถาบันการศึกษาใช้งานอย่างแพร่หลาย
ซูนิทา โบส กรรมการผู้จัดการกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล ที่มีบริษัทโซเชียลมีเดียเป็นสมาชิกอยู่มากมาย บอกว่า กลุ่มอุตสาหกรรมได้รับกฎหมาย แต่ไม่ได้รับคำแนะนำจากรัฐบาลออสเตรเลียเกี่ยวกับวิธีการที่ถูกต้องในการให้บริการต่างๆ ภายใต้กรอบกฎหมายใหม่นี้
หลายฝ่ายมีความเห็นต่างในกฎหมายใหม่
กลุ่มสนับสนุนสิทธิเยาวชน และสถาบันวิชาการ ได้ออกมาเตือนกฎหมายห้ามเด็กใช้โซเชียล อาจทำให้เยาวชนกลุ่มเปราะบางที่สุด รวมถึงกลุ่มวัยรุ่น LGBTQIA และกลุ่มผู้อพยพ ถูกตัดขาดจากเครือข่ายที่ให้การสนับสนุน
ขณะที่คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนออสเตรเลีย กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวอาจละเมิดสิทธิมนุษยชนของเยาวชน ด้วยการขัดขวางการมีส่วนร่วมในสังคม
กลุ่มสิทธิภาคเอกชน ก็เตือนว่า กฎหมายใหม่จะนำไปสู่การเก็บข้อมูลส่วนตัวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเปิดทางให้รัฐได้เฝ้าระวังข้อมูล จากการใช้ข้อมูลระบุตัวตนทางดิจิทัล อย่างไรก็ตาม กฎหมายใหม่ระบุว่า แพลตฟอร์มต่างๆ ต้องเสนอทางเลือกอื่นนอกเหนือจากการให้ผู้ใช้อัปโหลดเอกสารระบุตัวตน
ในบรรดาผู้ปกครองกลับเห็นด้วยกับความเห็นของวิเวก มูรติ ศัลยแพทย์ทั่วไปของสหรัฐที่เคยกล่าวไว้เมื่อปี 2566 ว่าโซเชียลมีเดียทำให้วิกฤติสุขภาพจิตของเยาวชนเลวร้ายลง จนถึงจุดที่ควรมีการเตือนด้านสุขภาพ
อาลี ฮัลคิก ผู้สนับสนุนการต่อต้านการกลั่นแกล้งชาวออสเตรเลีย ที่ลูกชายวัย 17 ของเขาฆ่าตัวตายเพราะถูกบูลลี่ในโซเชียลมีเดียเมื่อปี 2552 บอกว่า ควรเริ่มจากจำกัดอายุ และให้อำนาจควบคุมอยู่ที่ผู้ปกครอง
เอนี่ แลม นักเรียนในซิดนีย์ที่เพิ่งอายุครบ 16 ปี บอกว่า โซเชียลมีเดียมีส่วนทำให้เกิดปัญหาด้านภาพลักษณ์ทางร่างกาย และทำให้มีการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ แต่การแบนที่เข้มงวดอาจทำให้เด็กเข้าถึงส่วนต่างๆ ของอินเทอร์เน็ตที่อันตรายกว่ามากก็ได้
“พวกเรารู้ว่าโซเชียลมีเดียไม่ดีต่อเรา แต่การแบนอาจทำให้คนรุ่นใหม่ต่อต้านกฎหมายดังกล่าว”
ข้อมูล : กรุงเทพธุรกิจ