Intel จับมือ TSMC ร่วมผลิตชิป หวังพลิกเกมสู่ผู้นำอุตสาหกรรม

TSMC ผู้ผลิตชิปจากไต้หวัน บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นกับ Intel ให้เข้ามาช่วยบริหารโรงงานผลิตชิปของ Intel ซึ่งอาจเป็นดีลใหญ่ที่พลิกโฉมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ไปตลอดกาล ตามรายงานของ The Information ภายใต้ข้อตกลงนี้ TSMC จะถือหุ้น 20% ในบริษัทใหม่ที่ตั้งขึ้นมา ส่วน Intel และผู้ผลิตชิปรายอื่นจะถือหุ้นที่เหลือ การเจรจานี้ว่ากันว่ามีจุดเริ่มต้นมาจากรัฐบาลสหรัฐฯ ในยุค Donald Trump ที่ต้องการเสริมกำลังการผลิตชิปภายในประเทศ และช่วยให้ Intel กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้งหลังเผชิญกับความท้าทายทางธุรกิจ

Intel เปลี่ยนเกม ดึง TSMC ช่วยเสริมแกร่งโรงงานชิป

ข่าวใหญ่ครั้งนี้สะเทือนวงการไม่น้อย เพราะ TSMC และ Intel ถือเป็นคู่แข่งกันมานาน ข้อตกลงนี้หมายความว่า TSMC อาจต้องเปิดเผยเทคนิคการผลิตชิประดับสูงให้กับ Intel พร้อมทั้งส่งทีมเข้าไปฝึกอบรมพนักงานของ Intel ด้วย แม้ว่ารายละเอียดข้อตกลงจะยังไม่สรุป 100% แต่ถือเป็นสัญญาณว่าทั้งสองบริษัทกำลังเดินหน้าจับมือกันจริงจัง

ตั้งแต่ปี 2020 Apple ยุติการใช้ชิป Intel ในผลิตภัณฑ์ Mac และหันไปใช้ Apple Silicon ซึ่งผลิตโดย TSMC แต่เพียงผู้เดียว ทำให้ Intel เสียลูกค้ารายใหญ่ไป และเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้บริษัทต้องหาทางออกใหม่เพื่อความอยู่รอด

TSMC ได้เปรียบ เพราะโฟกัสที่การผลิตล้วน ๆ

สิ่งที่ทำให้ TSMC เหนือกว่า Intel คือการที่บริษัทไม่ได้ออกแบบชิปเอง แต่เน้นไปที่การผลิตให้ลูกค้าอย่าง Apple และ Nvidia โดยเฉพาะ การโฟกัสด้านการผลิตเพียงอย่างเดียวทำให้ TSMC ก้าวนำหน้า Intel ไปหลายช่วงตัว ขณะที่ Intel ต้องออกแบบและผลิตเอง ส่งผลให้ต้นทุนสูงและอัตราการผลิตสำเร็จ (yield rate) น้อยกว่า

ข้อตกลงนี้อาจสร้างแรงกระเพื่อมภายในองค์กรของ Intel โดยเฉพาะเรื่องพนักงาน เพราะหากต้องเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีของ TSMC จริง ๆ อาจมีการปลดพนักงานบางส่วน หรือถึงขั้นต้องเปลี่ยนอุปกรณ์การผลิตเดิม

Intel ขาดทุนหนัก ดีลนี้อาจเป็นทางรอดสุดท้าย

Intel ขาดทุนกว่า 18.8 พันล้านดอลลาร์ในปี 2024 จากการลงทุนด้านการผลิตชิป และผลกระทบจากตลาดพีซีที่ชะลอตัว ด้วยสถานการณ์ที่กดดันแบบนี้ การดึง TSMC เข้ามาช่วยบริหารโรงงานอาจเป็นหนทางเดียวที่จะช่วยให้ Intel ฟื้นตัว และกลับมาสู่เวทีการแข่งขันในตลาดเซมิคอนดักเตอร์ได้อีกครั้ง

ข้อมูล : macrumors