GPSC เดินหน้าแผนศึกษาพัฒนาเทคโนโลยี SMR ตอบโจทย์ภาคการผลิตเพื่อลดคาร์บอนฯ มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero

GPSC เร่งศึกษาพัฒนาเทคโนโลยี Small Modular Reactor (SMR) เพื่อสนับสนุนภาคการผลิตไทยในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero โดยร่วมมือกับ Seaborg Technologies จากเดนมาร์ก ศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในประเทศ หวังเสริมเสถียรภาพด้านพลังงาน คำนึงถึงความปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นายศิริเมธ ลี้ภากรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ผู้นำด้านนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่าสถานการณ์พลังงานสะอาดในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และ พลังงานลม มีข้อจำกัดในเรื่องของเสถียรภาพและไม่สามารถผลิตไอน้ำได้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในภาคการผลิต GPSC จึงให้ความสำคัญกับนวัตกรรมพลังงานสะอาดอื่น ๆ ที่ช่วยลดต้นทุนและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ พร้อมรักษาความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในระยะยาว

เทคโนโลยี SMR เจเนอเรชันที่ 4 เป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กแบบโมดูล่าร์ สามารถผลิตและประกอบจากโรงงานก่อนขนส่งไปยังพื้นที่ติดตั้งได้ โดย GPSC อยู่ระหว่างความร่วมมือกับ Seaborg Technologies เพื่อศึกษาแนวทางพัฒนาโครงการฯ ในไทย โดยกำหนดกรอบระยะเวลาศึกษา 4 ปี (2567-2570) ซึ่งการศึกษาโครงการดังกล่าวมุ่งเน้นความเป็นไปได้ทางเทคนิค เศรษฐศาสตร์ และความปลอดภัย

จากข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของไทย พบว่าปัจจุบันมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ประมาณ 250 ล้านตันต่อปี โดยแหล่งที่มาหลักแบ่งเป็น ภาคการผลิตไฟฟ้า 37% การขนส่ง 34% ภาคอุตสาหกรรม 24% และภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ 5% ทั้งนี้ ไทยมีแผนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ในภาคการผลิตไฟฟ้า จาก 100 ล้านตันในปี 2562 เหลือ 41 ล้านตันภายในปี 2593 อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมกลับมีแนวโน้มปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ เพิ่มขึ้นจาก 42 ล้านตันในปี 2562 เป็น 50 ล้านตันภายในปี 2593 เนื่องจากพลังงานความร้อนที่จำเป็นในกระบวนการผลิตไม่สามารถทดแทนด้วยพลังงานหมุนเวียนได้

ปัจจุบัน ภาคอุตสาหกรรมกำลังเผชิญแรงกดดันจาก กลไกปรับราคาคาร์บอนฯ ที่ชายแดนของสหภาพยุโรป (CBAM – Carbon Border Adjustment Mechanism) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี 2569 หากไทยไม่มีแหล่งพลังงานสะอาดที่เพียงพอ อุตสาหกรรมส่งออกอาจได้รับผลกระทบจากภาษีคาร์บอนฯ ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นและเสียเปรียบในการแข่งขันทางการค้า ขณะที่เทคโนโลยี SMR สามารถประยุกต์ใช้ได้ในหลายด้าน เช่น การผลิตไฮโดรเจน การผลิตไอน้ำ และการสนับสนุนกระบวนการดักจับและกักเก็บคาร์บอนฯ (CCS) ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

GPSC มุ่งมั่นศึกษาความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี SMR ร่วมกับ Seaborg เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยของ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) อย่างไรก็ตาม การพัฒนาโครงการต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายและข้อบังคับของภาครัฐ รวมถึงต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยและความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ โดยคาดว่า SMR อาจเริ่มนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ในต่างประเทศได้ภายในปี 2578