ที่ประชุมสภา ลงมติ 270 ต่อ 152 เสียง คว่ำข้อสังเกตรายงานนิรโทษกรรม ส่งให้รัฐบาลเฉพาะตัวรายงานอย่างเดียว “ชูศักดิ์” ย้ำใช้เป็นแค่แนวทางศึกษาออกกฎหมายนิรโทษกรรม รัฐบาลจะทำหรือไม่ก็ได้
วันที่ 24 ตุลาคม 2564 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่ 1 เป็นประธานการประชุมพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯพิจารณาเสร็จแล้ว โดยเป็นการพิจารณาต่อจากการประชุมสภาฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการลงมติข้อสังเกต
โดยก่อนการลงมตินายพิเชษฐ์เปิดโอกาสให้ กมธ.และสมาชิกอภิปรายเพิ่มเติมได้อีกเล็กน้อย โดย น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม. พรรคประชาชน อภิปรายว่า สนับสนุนการนิรโทษกรรมทุกคดี ไม่มีข้อยกเว้นคดีใด ที่ผ่านมา กมธ.เชิญแกนนำทุกสีมาให้ข้อมูลการนิรโทษกรรม
คดีมาตรา 112 ทุกคนเห็นด้วยให้นิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 แต่เหตุใด กมธ.ที่ไม่เห็นด้วยจึงมีปัญหา ไม่อยากให้ถ่วงการก้าวข้ามความขัดแย้ง โดยทิ้งใครไว้ข้างหลัง มีกี่คนที่รู้ถึงรายละเอียดพฤติการณ์ความผิดของผู้มีคดีมาตรา 112 ว่าแต่ละคดีเป็นอย่างไร หลายคดียกฟ้อง หลายคดีเป็นคดีกลั่นแกล้งทางการเมือง บางคนเป็นผู้ป่วยจิตเวช คดีความผิดมาตรา 112 มีเป็นพันคดี ไม่ใช่แค่หลักร้อย ขอให้เปิดใจให้โอกาสประชาชนที่มีคดีมาตรา 112 ได้กลับมาใช้ชีวิตปกติเหมือนที่พวกท่านจับมือกันตั้งรัฐบาล
นายชัยธวัช ตุลาธน อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะ กมธ.อภิปรายว่า คดีมาตรา 112 เกี่ยวข้องความขัดแย้งทางการเมืองแบบแยกไม่ออก การมองนิรโทษกรรม คดีมาตรา 112 จะส่งเสริมให้คนทำผิด บ้านเมืองไม่มีขื่อแป ถ้ามองเช่นนี้ไม่ควรนิรโทษกรรมคดีใดเลย การยกเว้นนิรโทษกรรม เฉพาะคดีมาตรา 112 ต้องคิดให้รอบคอบ ไม่ให้เกิดความรู้สึกทางลบต่อสถาบัน การนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 มีข้อดีคือ
ฟื้นความสัมพันธ์อันดีของประชาชนต่อสถาบัน ถ้าไม่นิรโทษความผิดนี้จะบรรลุไปสู่เป้าหมายความปรองดองได้หรือไม่ คดีมาตรา 112 เป็นความขัดแย้งที่มีนัยยะแหลมคมทางการเมือง ถ้าไม่นิรโทษจะคลี่คลายความขัดแย้งได้หรือไม่
อย่างน้อยควรมีพื้นที่ให้ยอมรับได้คือ นิรโทษกรรมดคีมาตรา 112 แบบมีเงื่อนไขคือ ให้มีคณะกรรมการนิรโทษกรรม มาพิจารณารายละเอียด พฤติการณ์คดีความผิดมาตรา 112 เป็นรายกรณี ว่าสมควรได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาพูดข้อเท็จจริงอะไรเป็นแรงจูงใจทางการเมืองให้ทำผิด รับฟังความเห็นต่าง ระหว่างการพิจารณาการนิรโทษกรรม ก็ให้พักการดำเนินคดีไว้ก่อน โดยมีเงื่อนไขต้องให้หยุดการกระทำแบบใดบ้าง ไม่อยากให้คนเห็นต่าง ถูกมองเป็นศัตรู
นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ขอให้สภาตั้งสติเรื่องการนิรโทษกรรม ควรตั้งคำถามคดีมาตรา 112 ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองหรือไม่ ถ้าเห็นว่าเป็นเรื่องความขัดแย้งทางสังคม การเมือง ก็ต้องไปศึกษาจะมีกระบวนการทางกฎหมายอย่างไร วาระนี้ไม่ใช่วาระที่พรรคการเมืองจะมาแข่งกันแสดงความจงรักภักดี จะแก้ปัญหาความขัดแย้งแบบนี้หรือ ที่ผ่านมาเคยนิรโทษกรรม คดี 6 ต.ค. 2519 ก็มีคดีมาตรา 112 อยู่ด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่า นักศึกษาทำผิดมาตรา 112 แต่ถูกกลั่นแกล้งใส่ร้าย
จึงได้รับการนิรโทษกรรม ถ้ากลัวว่านิรโทษกรรมแล้วจะทำผิดซ้ำ ขอให้ไปดูประชาชนไม่เคยทำผิดซ้ำในประวัติศาสตร์หลังนิรโทษกรรม มีอยู่เรื่องเดียวที่ได้รับนิรโทษกรรมแล้วทำผิดซ้ำคือ การรัฐประหาร จึงไม่ต้องห่วงประชาชนจะทำผิดซ้ำ สภาควรแสดงความรับผิดชอบแก้ความขัดแย้งในสังคม ด้วยการนิรโทษกรรมคดีที่มีแรงจูงใจทางการเมือง ควรให้ความเห็นชอบข้อสังเกตของ กมธ. เพื่อไปพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรม ก้าวข้ามความขัดแย้งด้วยความรอบคอบในอนาคต
ขณะที่นายวิทยา แก้วภราดัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ อภิปรายว่า ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการพิจารณารายงานศึกษานิรโทษกรรม สภาชุดที่แล้วเคยตั้ง กมธ.ศึกษาแนวทางปรองดองและนิรโทษกรรม ให้มีการนิรโทษกรรมทุกคดียกเว้นคดีทุจริต คดีฆ่าคนตาย และคดีมาตรา 110 และ 112 รายงานดังกล่าวก็ผ่านความเห็นชอบสภาฯ แต่ไม่เคยถูกแปรไปสู่การนิรโทษกรรมจริง ๆ ส่วนรายงานการพิจารณาแนวทางออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของ กมธ.ครั้งนี้มีความสับสนในตัวรายงาน ข้อสังเกต กมธ.ไม่มีข้อยุติจะนิรโทษกรรมหรือไม่นิรโทษกรรมคดีใดบ้าง ทุกอย่างไม่มีข้อสรุป
ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ไม่เห็นชอบรายงานและข้อสังเกต กมธ. เพราะเชื่อว่าปลายทางจะนำไปสู่ความแตกแยกครั้งใหญ่ในประเทศ เหมือนตอนผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย ถ้านำรายงานฉบับนี้ไปใช้เป็นสารตั้งต้นออกกฎหมายนิรโทษกรรมจะนำไปสู่ความแตกแยกในบ้านเมืองอีกครั้ง ตัวรายงานฉบับนี้ระบุว่า ทางเลือกนิรโทษกรรมมาตรา 112 ไว้ 3 ทาง หมายความว่าจะเลือกทางใดก็ได้
ขณะที่ข้อสังเกตของ กมธ. ข้อ 9.1 มีการระบุให้ ครม.ควรพิจารณารายงานของ กมธ.เป็นแนวทางตรากฎหมายนิรโทษกรรม แสดงว่า ถ้ารัฐบาลจะเลือกนิรโทษกรรม มาตรา 112 หรือเลือกนิรโทษกรรม มาตรา112 แบบมีเงื่อนไขก็ทำได้
และข้อ 9.5 ระบุว่า ระหว่างยังไม่มีการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ครม.ควรกำหนดนโยบายให้หน่วยงานรัฐในกระบวนการยุติธรรมไปดำเนินการตามกฎหมาย เช่น ให้อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการ ปี 2553 หรือให้ศาลเลื่อน จำหน่ายคดี ปล่อยตัวชั่วคราว อาจทำให้เกิดคำถามเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ รวมถึงข้อ 9.6 ให้คืนสิทธิทางการเมืองแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรม แสดงว่าเป็นการรวมการกระทำตามมาตรา 110 และมาตรา 112 ด้วย จึงไม่เห็นด้วยกับรายงานและข้อสังเกต เพื่อไม่ให้มีจุดหมายปลายทางไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหญ่ในอนาคต
ด้านนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในประธาน กมธ.ฯ อภิปรายสรุปว่า ตนคิดว่าพวกเราคงตั้งสติกันได้ว่าเรื่องนี้มิใช่การเสนอกฎหมายหรือพิจารณากฎหมาย และไม่ใช่พิจารณาว่านิรโทษกรรมมาตราอะไร ทุกคนคงเข้าใจตรงกัน และรายงานนี้เป็นเพียงการศึกษาแนวทางในการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งกมธ.ฯ ไม่ได้บอกว่าให้นิรโทษกรรมอะไรบ้าง
แต่โดยนัยยะความหมาย คือนิรโทษกรรมทางการเมืองที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ข้อความตรงนี้ไม่มีใครคัดค้าน ไม่มีใครไม่เห็นด้วย
ส่วนว่าทำไมไม่ฟันธงว่าจะมีนิรโทษกรรมมาตรา 112 หรือไม่ กมธ.ฯมีความเห็นไว้ 3 ทาง ซึ่งเราสรุปไว้ในข้อสรุปสุดท้ายว่าเรื่องนี้ยังเป็นประเด็นอ่อนไหว ยังมีประเด็นความขัดแย้ง กมธ.ฯ จึงยังไม่มีข้อยุติ ซึ่งหากเราไม่รับรู้ รับทราบข้อเท็จจริงของทุกฝ่ายว่ามีความเห็นอย่างไร ถ้าเราจะตรากฎหมายอะไร หากเราไม่ทราบข้อเท็จจริงและไม่รับทราบเหตุการณ์การกระทำที่เกิดขึ้น ผลก็คือเราจัดทำกฏหมายโดยไม่รอบคอบ ไม่ระวัง
“ผมเชื่อว่ารายงานฉบับนี้เป็นประโยชน์สำหรับสมาชิกที่จะนำไปศึกษา ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการนำไปประกอบการพิจารณาว่าเราจะตรากฏหมาย ควรจะคำนึงถึงอะไร และควรจะมีสาระสำคัญอย่างไรบ้าง อย่างน้อยที่สุดเปิดประชุมสมัยหน้าจะมีร่างกฎหมาย 4 ร่างที่พวกเราคงจะต้องมาพิจารณาร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง
ซึ่งมีร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากความผิดเหตุการณ์ขัดแย้งทางการเมือง ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ซึ่งรายงานฉบับนี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของสมาชิก และข้อสังเกตไม่ได้บังคับองค์กรใดต้องทำตามนั้น เขาจะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าวันนี้เราควรจะยุติด้วยการรับทราบรายงาน และรับทราบข้อสังเกต” นายชูศักดิ์กล่าว
หลังจากสมาชิกอภิปรายครบถ้วนแล้ว ในช่วงที่จะลงมติข้อสังเกตรายงาน กมธ.นั้น นายพิเชษฐ์ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้ขอให้สมาชิกที่ไม่เห็นด้วยกับการรับข้อสังเกตรายงานของกรรมาธิการฯ ฉบับนี้ ให้เสนอเป็นญัตติขึ้นมาเพื่อให้มีการลงมติ
ทำให้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นประท้วง พร้อมกล่าวด้วยน้ำเสียงฉุนเฉียวว่า ตามข้อบังคับไม่จำเป็นต้องมีการเสนอญัตติ แค่ให้ที่ประชุมลงมติว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกตดังกล่าวเท่านั้น จะเสนอญัตติทำไม ถ้าทำไม่ได้ให้เปลี่ยนให้รองประธานสภาฯ คนที่ 2 มาทำหน้าที่แทน ทำให้นายพิเชษฐ์สวนกลับด้วยน้ำเสียงไม่พอใจเช่นกันว่า “อยากเป็นก็ให้ขึ้นมา”
จากนั้นเวลา 16.40 น. ที่ประชุมลงมติข้อสังเกตรายงาน กมธ. ปรากฏว่า ที่ประชุมลงมติไม่เห็นชอบข้อสังเกต กมธ.ด้วยคะแนน 270 ต่อ 152 งดออกเสียง 5 ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ทำให้ข้อสังเกตตกไป โดยสภาฯ จะส่งเฉพาะตัวรายงานให้ ครม.เท่านั้น
ข้อมูล/ภาพ : ประชาชาติ