พิพัฒน์ผุดไอเดียสร้างแรงจูงใจให้แรงงานไทย ‘มีลูกเพิ่ม’ เสนอมาตรการเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรจาก 1,000 เป็น 3,000 บาทต่อเดือน เวลา 7 ปี โดยให้ส่งเด็กไปเลี้ยงดูในชนบท มุ่งแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลนในอนาคต
วันที่ 14 ตุลาคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงแนวคิดการให้เงินสงเคราะห์บุตร ว่าการสงเคราะห์บุตรของสำนักงานกองทุนประกันสังคม (สปส.) ก่อนหน้านี้เราให้ 800 บาทต่อเดือน แต่ในปี 2568 ให้เพิ่มเป็น 1,000 บาทต่อเดือน ซึ่งผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการกองทุนประกันสังคม (บอร์ด) เรียบร้อยแล้ว แต่ส่วนตัวต้องการจะเพิ่มแรงจูงใจในการให้ผู้ใช้แรงงานตามมาตรา 33 มีบุตรเพิ่มอีก
“ตัวผมเองมีแนวความคิดกับการที่จะเพิ่มประชากรให้กับประเทศไทยโดยคนไทย ขอเน้นย้ำนะครับว่าเฉพาะคนไทย เพราะผู้ใช้แรงงานปัจจุบันนี้มีความกังวล ว่าเมื่อท่านคลอดบุตรออกมาแล้วจะมีภาระการเลี้ยงดูบุตร เป็นภาระที่ยิ่งใหญ่มาก โดยเฉพาะในสังคมเมือง เพราะการที่จะต้องส่งลูกหรือส่งบุตรหลานไปเข้าโรงเรียน หรือเข้าสถานศึกษามีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง
ซึ่งฝากให้ท่านปลัดกระทรวงแรงงานนําเข้าไปหารือกับบอร์ดประกันสังคม ใครที่เป็นผู้ใช้แรงงานตามมาตรา 33 เมื่อคุณมีบุตรเพิ่มขึ้น และไปเลี้ยงดูในชนบท หรือในต่างจังหวัด เราจะให้ค่าสงเคราะห์บุตรจากเดือนละ 1,000 บาทต่อเดือน เพิ่มเป็นเดือนละ 3,000 บาทต่อเดือน ตลอดระยะเวลา 7 ปี” นายพิพัฒน์กล่าว
นายพิพัฒน์กล่าวว่า ตรงนี้ประกันสังคมก็จะต้องควักเงินอีกก้อนใหญ่ก้อนหนึ่ง แต่เป็นการสร้างความถาวรให้กับแรงงานของประเทศไทยโดยการเพิ่มประชากรคนไทย ปัจจุบันนี้เรามีผู้ที่เกิดใหม่กับผู้ที่เสียชีวิตไปไม่เท่ากัน ผู้เสียชีวิตมีมากกว่าคนที่เกิดใหม่ เพราะฉะนั้น จึงคิดว่าประกันสังคมต้องสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ประกันตน ว่าถ้าคุณสามารถกําเนิดบุตรเพิ่มขึ้นหนึ่งคน ค่าเลี้ยงดูบุตรเราจะให้เพิ่มจาก 1,000 บาทต่อเดือน เป็น 3,000 บาทต่อเดือน
นายพิพัฒน์กล่าวว่า มาตรการนี้คือแนวความคิดที่ตกผลึก ว่าการที่จะสร้างให้ประเทศไทยเรามีการสร้างประชากรเพิ่มขึ้น สำนักงานประกันสังคมเป็นส่วนที่สําคัญที่สุด และอยากจะเชิญชวนให้ผู้ใช้แรงงานได้มีบุตรเพิ่มขึ้น เป็นการสร้างความมั่นคงให้กับแรงงานของประเทศไทย
ส่วนจะมีการกำหนดจำนวนบุตรไว้หรือไม่นั้น นายพิพัฒน์กล่าวว่า ประมาณการไม่ได้ แล้วแต่ผู้ประกันตน ถ้าใครอยู่ในมาตรา 33 เราให้เลย 1 คน 2 คน 3 คน แล้วแต่
นายพิพัฒน์ให้เหตุผลที่มาตรการนี้ต้องส่งบุตรไปเลี้ยงในชนบท ว่าสังคมชนบทจะได้เปรียบ เพราะต้นทุนการเลี้ยงดูบุตรในชนบทถูกกว่า เพราะฉะนั้น เราต้องสร้างจากชนบทกลับเข้ามาสู่เมือง คุณจะสร้างจากเมืองไปสู่ชนบทยาก เพราะฉะนั้น เราพยายามรณรงค์ให้สังคมชนบทเข้ามาสู่เมือง โดยผ่านผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ซึ่งอยู่ทํางานในเมือง แต่ขอให้คุณมีบุตรและคุณนําบุตรไปให้กับปู่ย่าหรือตายายเลี้ยงในสังคมชนบท คุณจะได้สิทธิในการเลี้ยงดูบุตรทันที
นายพิพัฒ์กล่าวว่า การเสนอนี้เป็นเพียงแนวความคิด ซึ่งจะขายความคิดเบื้องต้น และเพื่อจะนําเข้าสู่บอร์ดประกันสังคมต่อไป ส่วนตัวไม่มีอํานาจ ไม่มีสิทธิที่จะเข้าไปประชุมในบอร์ดประกันสังคม เป็นหน้าที่ประธานบอร์ด โดยปลัดกระทรวงแรงงาน จึงทําได้อย่างเดียวคือเอานโยบายฝากให้ท่านปลัดกระทรวงไปหารือว่าเป็นไปได้หรือไม่
ข้อมูล/ภาพ : ประชาชาติ