การที่ “นายกฯเสี่ยนิด” ทำตัวเป็นนายกฯ เซลส์แมนไปเสนอเรื่องการค้าการลงทุนกับต่างประเทศหลายเจ้า และเป็นนายกฯที่ขยันมากชนิดกำหนดการทั้งวันแม้แต่เสาร์อาทิตย์ บทจะลงพื้นที่ก็ลงแบบไม่แจ้งล่วงหน้าก็ยังมี ซึ่งว่าไปก็น่าเสียดายที่ต้นรัฐบาลเพื่อไทย หรือรัฐบาลเศรษฐานั้น มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่คึกคัก และมีการกระตุ้นให้เห็นความหวังอยู่เรื่อยๆ
แต่พอมารัฐบาล “อิ๊งค์1” รัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ตั้งแต่แรกเข้ามายังไม่ปรากฏภาพบุคลิกของผู้นำที่โดดเด่น หรือนโยบายอะไรที่เริ่มในสมัยนายกฯ คนนี้ บอกแค่ยึดตามนโยบายของรัฐบาลนายกฯนิดเนื่องจากเป็นนายกฯ ที่มาจากพรรคเพื่อไทยเหมือนกัน และตัวนายกฯอิ๊งค์เอง ก็ไม่ค่อยให้สัมภาษณ์บ่อยเหมือนนายกฯเสี่ยนิด ..ตรงนี้ พวกทันสมัยนายกฯปูก็จะบอกว่า “ทรงเดียวกัน” คือ มักจะบอกว่า เรื่องนั้นเรื่องนี้ให้ไปถามคนโน้นคนนั้น เพราะเขารับผิดชอบ มอบหมายงานไปแล้ว หรือไม่ก็บอกว่า “ก็ต้องคุยกัน” ซึ่งนายกฯอิ๊งก็พูดคำว่า “ก็ต้องคุยกัน” อยู่หลายครั้งแล้ว ในเรื่องของค่าแรงขั้นต่ำ ในเรื่องของเงินบาทแข็ง ที่จะให้ รมว.คลังไปคุยกับ “ผู้ว่าฯนก” เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) และยังมีเรื่องอื่นๆ เช่น แก้รัฐธรรมนูญ
ซึ่งเชื่อว่า หลายๆ คนก็คงจะพอ“เดาๆ ทาง”นายกฯอิ๊งค์ออก ทำนองว่า “ขึ้นมาทั้งที่ยังไม่พร้อมนัก” เพราะเงื่อนไขรัฐธรรมนูญล็อคไว้ว่าต้องใช้ชื่อตามแคนดิเดตที่เสนอตอนเลือกตั้งเท่านั้น อีกทั้งเจ้าตัวเองก็อ่อนพรรษาทางการเมือง สมัยนายกฯเสี่ยนิดคงจะลองฝึกงานเรื่องการส่งเสริมเศรษฐกิจซอฟต์พาวเวอร์ก่อน แต่เมื่อเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองกับนายกฯเสี่ยนิด ก็ต้องตกกระไดพลอยโจนมาเพราะ “ภาพลักษณ์เหมาะนำรัฐบาลที่สุดในแคนดิเดตเพื่อไทยที่เหลือ” ..นายกฯอิ๊งค์ก็พูดในวันรับตำแหน่งแล้วว่า ตัวเองไม่ใช่คนเก่งที่สุด แต่พร้อมจะรับฟังทุกคน
สิ่งที่เป็นภาพจำแรกของรัฐบาลอิ๊งค์ 1 คือ “การจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า” เพราะสาละวันเตี้ยลงๆ อยู่กับการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี จนใช้เวลาเกือบเดือนนับจากวันที่นายกฯเสี่ยนิดพ้นจากเก้าอี้ ที่ตั้งล่าช้าเพราะกลัวดันไปตั้งใคร “ท่าทางไม่เข้าท่า” แล้วนายกฯ ในฐานะผู้รับสนองพระบรมราชโองการฯ ต้องรับผิดชอบกับการแต่งตั้งนั้นแบบที่นายกฯเสี่ยนิดโดน .. ก็เลยมีคนถูกจับตาเป็นพิเศษสองคน คือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ ( พปชร.) และนายชาดา ไทยเศรษฐ สส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย จนในที่สุด เพื่อป้องกันปัญหาโดนร้อง ทั้งคู่ก็เลยตัดสินใจไม่รับตำแหน่ง ป้องกันนายกฯอิ๊งค์โดนร้องเร่องจริยธรรม
รัฐบาลทำอะไรล่าช้า ส่วนหนึ่งก็มาจากเรื่องกลัวถูกสังหารด้วยจริยธรรม ทำให้มีกระแสเรื่องจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับจริยธรรม ไปจนถึงแก้ไขกฎหมายลูก พ.ร.ป.พรรคการเมือง ( ที่สงสัยกันอีก “เอื้อทักษิณหรือไม่” ) ..สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนยื่นร่างไปแล้ว.. เรื่องหนึ่งคือแก้ใน ม.160 คุณสมบัติของรัฐมนตรี เรื่อง “ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์”.. คือต้องเข้าใจว่า“เขาไม่ได้ยกเลิกประมวลจริยธรรม” เพียงแต่ดูเรื่องการบังคับใช้ด้านจริยธรรมให้มันไม่ถูกนำไปใช้ตีความแบบครอบจักรวาล กำหนดโทษแบบประหารชีวิตทางการเมือง
อ่ะ..ถ้าใครเห็นว่า การตีความจริยธรรมไม่มีปัญหา ขอให้ดูคดีชัดๆ คดีหนึ่งคือ คดีของ น.ส.พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า ถ้าเอาอคติความรักชอบทางการเมืองออกไป คิดว่า “เป็นเรื่องยุติธรรมหรือไม่” ที่รูปๆ เดียว ถ่ายด้วยความไม่เดียงสา เพราะความคิดทางการเมืองในขณะนั้น … อีกสิบปีต่อมารูปย้อนกลับมาทำลายได้ ถึงขนาดตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต ..แล้วใครที่เผลอโพสต์รูปอะไรประหลาดๆ ชวนให้คิดลึกไป หรือเผลอทำอะไรโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ไปในอดีต เจอนักขุด ขุดเรื่องมาทำลายทางการเมือง แล้วเสียอนาคต..เช่นนี้แล้ว คงจะพอคิดกันได้ว่า เรื่อง “การบังคับใช้” จริยธรรม มีปัญหา ซึ่งเผลอๆ อาจไม่ต้องแก้ตัว“ประมวลจริยธรรม” แต่ให้การบังคับใช้มันรัดกุม ไม่ตีความครอบจักรวาล และไม่ใช้เป็นเครื่องมือประหารกันทางการเมือง
ถ้าใช้จริยธรรมกันครอบจักรวาล ระวังต่อไปจะเกิดกรณี..ไม่มีใครสะอาดเลยแผ่นดินนี้.. เพราะขนาดกรณี น.ส.พรรณิการ์ เอาผิดอาญาอะไรไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่ยังโดน ..อย่าพูดเลยว่าไม่ได้ทำผิดไม่ต้องไปกลัว มันขึ้นอยู่กับ “บทคนจะเล่นงานคุณ” และ “คุณใกล้ชิดกับขั้วอำนาจ ณ ขณะนั้นแค่ไหน” จริยธรรมกลายเป็นเครื่องห้ำหั่นทางการเมืองราวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งแม้กระทั่งพวกฝ่ายการเมือง “คนดีย์” ที่ชอบชี้หน้าด่าคนอื่นบกพร่องจริยธรรม ก็มีสิทธิ์โดนถ้าคนร้องเขียนสำนวนให้โดนได้ ..
เมื่อมองประกอบกับหัวเรื่อง “วังวน” ของประเทศไทยคืออะไร ? จะตอบว่า “คือการแก้กฎหมายให้ถูกใจนักการเมือง” ก็ได้ ..เรื่องจริยธรรมมันสองคนยลตามช่อง ฝั่งหนึ่งว่า ต้องคงไว้เพื่อความเป็นคนดีไม่โกงบ้านเมืองก็ว่า อีกฝั่งก็ว่าเห็นปัญหาการบังคับใช้ ซึ่งโดนกันทั้งขั้วซ้าย ( พรรคประชาชน : ปชน.) และขั้วขวา ( พรรคเพื่อไทย ) นั่นแหละ แต่คำว่าจริยธรรมเป็นคำที่ละเอียดอ่อน ( หรือบางคนเห็นการบังคับใช้ และปฏิกิริยาบางอย่างในสังคมแล้ว อาจเรียกว่า ดัดจริต เอาซะเลย ) ทำให้เสียงก็แตก และอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล
กล่าวคือ ประเด็นจริยธรรมเป็นจริตแบบชนชั้นกลาง ที่เคยปลุกกระแสไล่ทั้งนายทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาแล้ว กรณีนายทักษิณนั้นเกิดจากการขายหุ้นเอไอเอสแบบไม่เสียภาษี ส่วนกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์นั้น เกิดจากความพยายามออกกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย … ตอนนี้เลยมีกระแส “ปลุกความหวาด” ให้กับนายกฯอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร ว่า หากมีการแก้ไขเรื่องจริยธรรมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะถูกม็อบไล่อีกหรือไม่ ?
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.พรรคประชาชน ( ปชน.) เองก็สนับสนุนว่าต้องแก้ เพราะ “ปัญหาจริยธรรมที่ถูกตีความขยายไปเกินกว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ หรือสิ่งที่ประชาชนคาดหวังอยากให้เป็น เปิดช่องให้องค์กรอิสระพิจารณาตีความขยายเกินกว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นอันตรายต่อการพัฒนาระบอบสถาบันการเมือง และการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย”
แนวทางของพรรค ปชน.ที่นายณัฐวุฒิเสนอขึ้นมา ก็คือให้ประชาชนตัดสิน ( ซึ่งไม่รู้ว่าในลักษณะรูปธรรมจะออกมาอย่างไร ) และการดำเนินการของกรรมการวินัยพรรค ( อย่างที่พรรคก้าวไกลได้เคยขับ สส.มีปัญหาเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศออกจากพรรค ) ..ส่วนนายกฯ อิ๊งค์บอกว่า “มีอะไรให้คุยกันก่อน” ด้านภูมิใจไทยคงเริ่มเชคเสียงสังคม และเห็นว่า “วิธีที่ปลอดภัยกว่าคือการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ยกเว้นหมวด 1-2 เพราะ 1.อย่างไรก็จะยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่อยู่แล้ว 2.ไม่อยากให้ใครเอาไปขยายเป็นข้อครหาว่า นักการเมืองแก้เพื่อตัวเอง”
แล้วรัฐบาลก็ต้องมาวนเวียนกับคำถามประเภท “มีเสียงวิจารณ์ว่าแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง” อยู่บ่อยๆ จนนายกฯอิ๊งค์ ดูเหมือนจะออกอาการลมไม่ค่อยดีเมื่อถูกถามในวันที่ 24 ก.ย… เมื่อนักข่าวไปถามว่า เหมือนภูมิใจไทยกับไทยรักษาชาติ ( รทสช.) คิดจะกลับลำ โดนนายกฯ ต่อว่ามาว่า “ต้องคุยกันก่อน เราเข้าใจกัน เราเห็นกันว่า ตอนนี้สิ่งที่รัฐบาลควรเน้นย้ำคือเรื่องของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมหรือกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็อยากจะบอกว่าถ้ารัฐบาลมั่นคง เสถียรภาพการเมืองมั่นคง ประเทศชาติก็มั่นคงไปด้วย อันนี้นักข่าวก็ต้องช่วยกันเรื่องนี้ จำไว้ว่าเราก็อยากให้รัฐบาลเข้มแข็งต่อไป ขอให้นักข่าวไม่ถามอะไรที่เป็นการยุแยง สิ่งที่เร่งด่วนที่สุดคือน้ำท่วม”
ซึ่งดูคำว่า “ขอนักข่าวไม่ถามอะไรยุแยง” ก็ดูออกจะหัวเสียพอสมควร แต่พรรคภูมิใจไทยก็ประชุมกันแล้วว่า จะเอายกร่างใหม่ทั้งฉบับ ส่วนเพื่อไทย หลังภูมิใจไทยประชุม ก็เห็นว่า “เรื่องแก้รัฐธรรมนูญนี่มีพรรคอื่นเสนอมา ไม่ใช่เรื่องของเราแต่แรก เลยกลับลำ ไม่เอาแก้รายมาตราแล้ว ( ร่างที่ส่งไปแล้วจะเอาอย่างไรอีกเรื่อง ) .. ซึ่งเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา สุดท้ายจะเอาอย่างไรขอให้ชัด ตอนนี้คือ ข่าวสำคัญๆ เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ดูจะค่อยๆ เลือนหายไปจากกระแส อะไรที่รัฐบาลสัญญาไว้ก็หายๆ ไป ..อย่างเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ก็เล่นอะไรกันอยู่ที่บอร์ดค่าจ้างผลัดกันขาด จนไม่น่าจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้ทันเดือน ต.ค. เรื่องปริญญาตรีเงินเดือนแรกเข้า 25,000 บาทก็เงียบ
เรื่องการลงทุนเมกะโปรเจคส์อะไรก็เงียบ โครงการแลนด์บริดจ์ที่พูด – วิจารณ์กันจนปากแฉะสมัยรัฐบาลเสี่ยนิดหายไปกับสายลม เงินดิจิทัลก็ไม่มีคำตอบกลับมาจากสายลมว่า กลุ่มที่ไม่ใช่กลุ่มเปราะบางจะได้ใช้เมื่อไร .. ตกลงเรื่องค่าเงินแข็งจะไปคุยกับผู้ว่าฯนก เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าแบงค์ชาติเรื่องปรับดอกเบี้ยเมื่อไร เรื่องซอฟต์พาวเวอร์ที่ตีตูมๆ กันในช่วงรัฐบาลเสี่ยนิด เงียบฉึ่งอีกแล้ว ทั้งที่สร้างความหวังเรื่องกระตุ้นการจ้างงาน การสร้างตัวตนให้คนไทยไว้ ซึ่งจริงๆ แล้วมันจะเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของเพื่อไทยได้ ถ้าทำแล้วสร้าง “ซุปตาร์” ด้านต่างๆ เช่น นักร้อง นางแบบ นักกีฬา นักศิลปะ ดีไซเนอร์ ..แต่ตอนนี้เหมือนทุกอย่างถูก freeze ไว้หมด จะเอาฮิปโปเป็นซอฟต์พาวเวอร์ไทยก็ประหลาดไป เพราะนั่นมันสัตว์ป่าแอฟริกา ..แต่ตอนนี้รัฐบาลยังมีข้ออ้างเรื่องไปช่วยน้ำท่วมอยู่
เมื่อเสียงภูมิใจไทยกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ( รทสช.) แตกกับพรรคเพื่อไทยอีก ก็ต้องมาจับเข่าคุยกัน..จะเอาอย่างไร ? ขอรายมาตราก่อนได้ไหม ไม่ให้ใช้จริยธรรมมาทำลายกันทางการเมือง ส่วนยกร่างใหม่คิดว่าอย่างน้อย 2 ปี ทำประชาพิจารณ์ก็สามรอบไปแล้ว 1.ต้องการให้มีรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ 2.เลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 3.ประชาพิจารณ์รับรองรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ …ก็สุดแล้วแต่ “เขาจะคุยกันอย่างไร” แล้วกัน มันกลับไปกลับมากันได้ จะแก้เรื่องจริยธรรมก็ต้องระวังทุกย่างก้าวเดี๋ยวจะโดนร้องเรียนจริยธรรมเข้าอีก กลายเป็นตลกร้าย
อย่างว่า ก็ต้องให้กติกาถูกใจนักการเมืองเนาะ ไม่งั้นเขาว่าเขาทำงานไม่ได้ เหมือนเวลาฉีกรัฐธรรมนูญโดยคณะรัฐประหาร พอจะแก้ทีต้องแก้ระบบเลือกตั้งก่อน เพราะนักการเมืองอยากให้แก้ วันนี้เรื่องจริยธรรมมีปัญหาการบังคับใช้ ก็รอดูเหตุผลที่แต่ละฝ่ายจะแสดงผ่านสื่อหรือถกเถียงกันในสภา ว่าไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง
ข้อมูล/ภาพ : เดลินิวส์