พรรคประชาธิปัตย์ ถูกเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากอดีตนักการเมือง – คนประชาธิปัตย์ และแฟนคลับ เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย จบรอยร้าวบนกระดานอำนาจมากว่า 2 ทศวรรษ
78 ปี คือระยะเวลาของพรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดในประเทศ
ต่อไปนี้คือเรื่องราวของพรรคประชาธิปัตย์บนเส้นทางการเมืองโดยย่อ จากหัวหน้าพรรคคนที่หนึ่ง ถึงหัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน
คนที่หนึ่ง ควง อภัยวงศ์ ทั้งนี้ รากของพรรคประชาธิปัตย์ เกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง บนกระดานอำนาจ เป็นการรวมกลุ่มของคนการเมืองที่อยู่ต่างขั้วกับ “ปรีดี พนมยงค์” เช่น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช – ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช – โชติ คุ้มพันธ์ – เลียง ไชยกาล เมื่อเห็นว่า กลุ่มการเมืองของ “ปรีดี” เลือกเล่นการเมืองในสภา จึงเห็นควรสู้ในเกมสภา
ในปี 2489 เป็นช่วงที่ขบวนการเสรีไทย ยิ่งใหญ่หลังจากเป็นขบวนการใต้ดิน เป็นจิ๊กซอว์สำคัญทำให้ไทยรอดพ้นจากการเป็นฝ่ายแพ้สงคราม และเป็นขุมพลังทางการเมืองของฝ่าย “ปรีดี”
อย่างไรก็ตาม “พรรคประชาธิปัตย์” ในเวลานั้น ทั้งการตั้งกระทู้เรื่องเรื่องการใช้จ่ายเงินและอภิสิทธิ์ของฝ่ายเสรีไทย กระทั่งเกิดกรณีสวรรคต ของในหลวงรัชกาลที่ 8 เป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกับรัฐบาลปรีดีหมดวาระ
รัฐบาลเจอแรงกดดันอย่างหนัก แต่ ปรีดี ก็สามารถฝ่าด่านเลือกตั้งเข้าสภาได้สำเร็จ แต่ตัดสินใจส่งไม้ต่อให้ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาสวัสดิ์ เป็นนายกฯ สุดท้ายเกิดการรัฐประหาร 2490 นำโดย จอมพลผิน ชุณหะวัณ และหนึ่งในผลพวงการรัฐประหาร การเลือกตั้งในเวลาต่อมา พรรคประชาธิปัตย์ ได้เสียงข้างมากในสภา โดยมี “ควง” เป็นนายกฯ แต่ต่อมาก็ถูก “ปฏิวัติเงียบ” ถูกจี้ลงจากตำแหน่ง เปิดทางให้ “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” กลับเข้าสู่อำนาจ เป็นนายกฯ
ควง ก็ยังเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เรื่อยมา ทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้าน – ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ทั้ง รัฐบาลจอมพล ป. รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ รัฐบาลจอมพลถนอม กระทั่งเสียชีวิต 15 มีนาคม 2511 ขณะอายุได้ 66 ปี โดยดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต
คนที่สอง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แทน “ควง” นำพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล หลังเหตุการณ์นองเลือด 14 ตุลาคม 2516 ผ่านไปประมาณปีเศษ โดยผลการเลือกตั้งครั้ง 26 มกราคม 2518 เป็นการเลือกตั้งที่ไม่มีพรรคใดได้เสียงในสภาเกินครึ่ง แต่มีพรรคประชาธิปัตย์ ได้เสียงมากเป็นอันดับ 1 มี สส. 72 เสียง
แม้สภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากจะโหวต ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เป็นนายกฯ แต่ทันทีที่รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา กลับถูกคว่ำ – แพ้โหวตกลางสภา เมื่อ 15 มีนาคม 2518 “ม.ร.ว.เสนีย์” ได้เป็นนายกฯ ได้เพียง 1 เดือนเท่านั้น
แต่ในปี 2519 ม.ร.ว.เสนีย์ พาพรรคประชาธิปัตย์ ชนะการเลือกตั้ง วันที่ 4 เมษายน 2519 อีกครั้ง และได้เป็นนายกฯ แต่ก็อยู่ได้ไม่นานก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 กระทั่งต่อมาได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และวางมือทางการเมือง ในปี 2522
คนที่สาม พ.อ.(พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ แม้ พ.อ.(พิเศษ) ถนัด จะไม่ได้ขึ้นสูงได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ร่วมรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และครบวาระดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ในปี 2525
คนที่สี่ พิชัย รัตตกุล ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค คนที่ 4 เป็น “ลมใต้ปีก” ของรัฐบาล พล.อ.เปรม ทว่าเหตุการณ์สำคัญในช่วงเวลานี้คือ การเกิด “กบฏ 10 มกรา” ที่สะเทือนไปถึงรัฐบาล พล.อ.เปรม โดยเหตุเกิดที่โรงแรมเอเชีย เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2530 ในการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 4
เป็นการแข่งขันกันระหว่าง กลุ่มของนายวีระ มุสิกพงศ์ เลขาธิการพรรคในขณะนั้น ที่สนับสนุนนายเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ อดีตเลขาธิการพรรคคนที่ 7 เป็นแคนดิเดตหัวหน้าพรรค กับกลุ่มของนายชวน หลีกภัย และ “เสธ.หนั่น” พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ที่เสนอชื่อนายพิชัย รัตตกุล เป็นหัวหน้าพรรค สุดท้ายกลุ่มของนายวีระแพ้ให้กับกลุ่มของนายชวน–เสธ.หนั่น
ต่อมาวันที่ 28 เมษายน 2531 กลุ่ม 10 มกรา ออกฤทธิ์เดช “สวนมติพรรค” และ “มติวิปรัฐบาล” โดยการลงมติ แม้ว่า “กฎหมายรัฐบาล” จะได้รับความเห็นชอบ (183 ต่อ 134 เสียง) ถัดมาเพียงวันเดียว พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประกาศยุบสภาในวันถัดมา และต่อมา เฉลิมพันธ์, วีระ มุสิกพงศ์ เลขาธิการพรรค แยกไปตั้งพรรคประชาชน
คนที่ห้า ชวน หลีกภัย รองหัวหน้าพรรค ภาคใต้ ได้ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค โดยเอาชนะ “มารุต บุนนาค” รองหัวหน้าพรรค กทม. โดย “ชวน” ได้รับการเลือกจากที่ประชุมใหญ่พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2534 และเขาได้พาพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกฯ ถึง 2 ครั้ง โดยเฉพาะครั้งที่ 2 ที่รับไม้ต่อจากรัฐบาลความหวังใหม่ แก้วิกฤตต้มยำกุ้ง ก่อนจะพ่ายแพ้ให้กับพรรคไทยรักไทย คลื่นลูกใหม่ที่นำโดย “ทักษิณ ชินวัตร”
คนที่หก บัญญัติ บรรทัดฐาน ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคคนที่ 6 เอาชนะ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” และอาทิตย์ อุไรรัตน์ แต่หลังจากนำพรรคประชาธิปัตย์ลงเลือกตั้ง วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 กลับแพ้ให้กับพรรคไทยรักไทยอย่างราบคาบ โดยได้ สส.เพียงแค่ 96 คน ทำให้เขา และ ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรค
คนที่เจ็ด อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เขาเป็นคนที่นำพาพรรคประชาธิปัตย์ จัดตั้งรัฐบาลอีกครั้งแม้ไม่ได้ชนะเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่ง เพราะพรรคพลังประชาชนถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค และเกิดความขัดแย้งภายใน หลังพรรคพลังประชาชนถูกยุบพรรคและพรรคร่วมรัฐบาลสลายขั้ว ได้เป็นนายกฯ คนที่ 27
ผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองอันรุนแรงในการสลายการชุมนุม ผ่านวิกฤตเศรษฐกิจโลกอย่างวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ แต่สุดท้ายพ่ายแพ้การเลือกตั้งปี 2554 ให้กับพรรคเพื่อไทย และกลายเป็นพรรค “ต่ำร้อย” ในการเลือกตั้ง 2562 เขาแสดงสปีริตลาออก และ ถอยเหมือนจะถอยห่างการเมืองแต่ก็ไม่เคยห่าง
คนที่แปด จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นหัวหน้าพรรคภายหลัง “อภิสิทธิ์” ลาออก โดยเอาชนะ อภิรักษ์ โกษะโยธิน – พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค – นายกรณ์ จาติกวณิช พาพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เขาได้นั่งเก้าอี้ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ทว่า แต่หลังจาก 14 พฤษภาคม 2566 พรรคประชาธิปัตย์ได้เพียง 25 เสียง ต่ำกว่าเดิม เขาลาออก
คนที่เก้า เฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นหัวหน้าพรรคที่ต้องจารึกประวัติศาสตร์ เพราะตอบรับการเทียบเชิญเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ยุติความขัดแย้ง การเป็นคู่แข่งระหว่าง 2 พรรค มาตลอด 2 ทศวรรษ ตั้งแต่ยุคชวน หลีกภัย ยุคบัญญัติ บรรทัดฐาน ยุคอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุคจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์