เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2567 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณารายงานผลการดำเนินการของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประจำปี 2566 โดย นายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ลุกอภิปรายตอนหนึ่งว่า ประธาน กสทช. ถูกร้องเรียนต่อวุฒิสภา เรื่องคุณสมบัติ มีการร้องเรียนว่า เอาเวลาไปทำงานที่อื่นด้วย ไปเป็นกรรมการอิสระของธนาคารด้วย และได้ทำการตรวจสอบแล้วจาก กมธ.ไอซีที จึงอยากทราบว่า ถ้าประธาน กสทช.เป็นอย่างนั้นจริง ท่านบกพร่องมาตั้งแต่เมื่อไหร่ จะแก้ไขอย่างไร ทราบว่าเรื่องนี้ทางวุฒิสภาได้ดำเนินการตรวจสอบและมีผลการตรวจสอบส่งไปที่ประธานวุฒิสภาแล้ว คาดว่าประธานวุฒิสภาจะดำเนินการตามกฎหมาย ขอทราบคำตอบเรื่องนี้ เพราะเห็นว่าผลการตรวจสอบมีมูลตามที่ร้องเรียน
นายวีรภัทร คันธะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคประชาชน กล่าวว่า ประธานกรรมการ กสทช. มีปัญหาที่หลายคนตั้งคำถามหลายเรื่องเริ่มจากปัญหาคุณสมบัติ ปัญหาการบริหารงานที่มีความล่าช้า และปัญหาการสรรหาเลขาธิการที่มีความล่าช้า ต้องตั้งรักษาการมาถึง 4 ปี ยังสรรหาไม่ได้ ส่วนเรื่องคุณสมบัติ กมธ.ไอซีทีของวุฒิสภา ได้ทำการตรวจสอบ และสรุปผลการตรวจสอบเรื่องคุณสมบัติว่ามีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ ประธาน กสทช.ยังมีสถานะเป็นพนักงานและกรรมการมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งยินยอมเสนอชื่อตัวเองให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นธนาคาร ให้ความเห็นชอบเป็นกรรมการธนาคารโดยยังไม่ได้ลาออก ซึ่งผลการตรวจสอบมีพยานหลักฐาน และกรรมาธิการของวุฒิสภาสรุปผลการตรวจสอบว่าผิดจริง แต่ไม่ได้แสดงสปิริตลาออกยังคงทำงานต่อไป
“อยากถาม กสทช.ว่า การมีผู้บริหารหน่วยงานที่มีที่มาไม่ถูกต้องจะรับผิดชอบอย่างไร ประธาน กสทช.น่าจะหยุดปฏิบัติหน้าที่และลาออกไปซะ เพราะมีเอกสารหลักฐานชัดเจนว่า ผิดจริง แต่ท่านกลับยังลอยหน้าลอยตาทำงานอยู่อย่างงี้ ทั้งหมดก็เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายภายหลัง ทำให้เรื่องที่ผ่านการพิจารณาเป็นโมฆะ ซึ่งที่ผ่านมา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิท่านเดิม ก็ได้ส่งเรื่องไปยังนายกฯ แล้ว ก่อนที่ท่านจะหมดวาระ อันที่จริง พวกเราก็อยากจะขอให้ท่านเศรษฐา ทวีสิน มีคำสั่งให้ นพ.สรณ พ้นจากตำแหน่ง แต่นายกฯ ก็ดันมาพ้นตำแหน่งเสียก่อน” นายวีรภัทรกล่าว
ด้าน นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ชี้แจงถึงประเด็นคุณสมบัติของตนว่า เรื่องรายงานของ กมธ.ไอซีที ที่อ้างถึงคุณสมบัตินั้น จัดทำโดยผู้ที่ไม่มีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมาย เป็นการให้ร้ายและเกิดจากความลำเอียง บิดเบือนไม่เป็นกลาง และประธานวุฒิสภาก็ไม่ได้เห็นด้วย และดำเนินการต่อไป ในความจริงตนได้ลาออก จากการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2565 และได้ตอบคำถามวุฒิสภาเรียบร้อยแล้ว ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 18 พระราชบัญญัติองค์กร ตั้งแต่ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง ตนไม่เคยขาดคุณสมบัติ และทำงานเต็มเวลา ไม่เคยเป็นกรรมการบริษัทเอกชน รวมถึงไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน ในการทำหน้าที่ กสทช.
ที่มา : มติชน ออนไลน์