สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพฤหัสบดี (26 ธ.ค.) เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ได้บดบังปัจจัยบวกจากข่าวรัฐบาลจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
- ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.พ. ลดลง 48 เซนต์ หรือ 0.68% ปิดที่ระดับ 69.62 ดอลลาร์/บาร์เรล
- ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.พ. ลดลง 32 เซนต์ หรือ 0.43% ปิดที่ 73.26 ดอลลาร์/บาร์เรล
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ดีดตัวขึ้นแตะระดับ 108.13 เมื่อคืนนี้ โดยการแข็งค่าของดอลลาร์ส่งผลให้สัญญาน้ำมันดิบซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาแพงขึ้นและไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ
การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ได้บดบังปัจจัยบวกจากรายงานข่าวที่ว่า รัฐบาลจีนได้อนุมัติการออกพันธบัตรรัฐบาลพิเศษวงเงิน 3 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 4.11 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2568 ซึ่งนับเป็นมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีเป้าหมายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ
ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างมากจากระดับ 1 ล้านล้านหยวนในปีนี้ และเกิดขึ้นในจังหวะที่จีนเตรียมรับมือกับผลกระทบจากการที่สหรัฐฯ ขู่ว่าจะปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน โดยคาดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ กลับเข้าสู่ทำเนียบขาวอีกครั้งในเดือนม.ค.ปีหน้า ในฐานะประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ
ทิม สไนเดอร์ หัวหน้านักวิเคราะห์จากบริษัท Matador Economics กล่าวว่า การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันในจีนฟื้นตัว และจะเป็นปัจจัยหนุนราคาน้ำมันให้ปรับตัวขึ้นด้วย
ธนาคารโลกปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปี 2567 ขึ้นสู่ระดับ 4.9% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 4.8% และปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจจีนในปี 2568 ขึ้นสู่ระดับ 4.5% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 4.1% โดยได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการส่งออกที่มีแนวโน้มแข็งแกร่ง
อย่างไรก็ดี ธนาคารโลกเตือนว่า เศรษฐกิจจีนในปีหน้าอาจเผชิญแรงกดดันจากการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งความเชื่อมั่นที่อ่อนแอลงทั้งในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐฯ (EIA) ในวันนี้ (27 ธ.ค.) ตามเวลาสหรัฐฯ หรือตรงกับวันเสาร์ที่ 28 ธ.ค. เวลา 01.00 น.ตามเวลาไทย
ก่อนหน้านี้ สถาบันปิโตรเลียมอเมริกา (API) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบลดลง 3.2 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลง 700,000 บาร์เรล
ข้อมูล/ภาพ : สำนักข่าวอินโฟเควสท์ , ประชาชาติธุรกิจ