ครม.ส่งท้ายปีใหม่ อนุมัติมาตรการ Easy E-Receipt 2.0 ลดหย่อนภาษีสูงสุด 50,000 บาท หวังดึงร้านค้าเข้าระบบภาษีเพิ่ม 20% ซื้อสินค้าอะไรได้บ้าง เช็กเงื่อนไขได้เลยที่นี่
เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2567 ณ ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. เห็นชอบในหลักการให้กระทรวงการคลังเสนอมาตรการ Easy E-Receipt 2.0 เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศในปี 2568 ผ่านการส่งเสริมการบริโภคสินค้าและบริการโดยผู้ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและสามารถหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการได้สูงสุดรวม 50,000 บาท
ด้านจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอให้ของขวัญปีใหม่ประชาชน ผ่านมาตรการ Easy E-Receipt 2.0 เพื่อช่วยกระตุ้นกำลังซื้อ โดยให้ประชาชนใช้จ่ายตามเงื่อนไขโครงการ และสามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 50,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค. 2568 ถึงวันที่ 28 ก.พ. 2568
สำหรับการใช้จ่ายผ่านโครงการ Easy E-Receipt ต้องซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้าที่จดทะเบียนในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม และนำใบกำกับภาษีในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกกันว่า e-Tax Invoice และ e-Receipt มาใช้ลดหย่อนภาษี ในวงเงิน 50,000 บาทนั้น โดยมีเงื่อนไขการใช้จ่ายเป็น 2 ส่วน ได้แก่
1. วงเงิน 30,000 บาท ใช้จ่ายสำหรับซื้อสินค้าและบริการทั่วไปจากร้านค้าที่จดทะเบียนในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
2. วงเงิน 20,000 บาท ใช้จ่ายสำหรับร้านวิสาหกิจชุมชน SME และร้านค้า OTOP ที่อยู่ในระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และเปิดโอกาสให้ซื้อสินค้าผ่านร้านค้าออนไลน์ได้ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในชุมชน
สินค้าที่ไม่เข้าร่วมมาตรการ Easy E-Receipt
- ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์
- ค่าซื้อยาสูบ
- ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
- ค่าน้ำมันและก๊าซ ค่าบริการประจุไฟฟ้า สำหรับเติมยานพาหนะ
- ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต และค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาวซึ่งเริ่มต้นก่อนวันที่ 16 ม.ค. 2568 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 28 ก.พ. 2568 แม้ว่าจะจ่ายค่าบริการระหว่างวันที่ 16 ม.ค. 2568-28 ก.พ. 2568 ก็ตาม
- ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย โดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่น ๆ เป็นไปตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
- ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว และค่าที่พักโรงแรม ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทย หรือค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังคาดว่า มาตรการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 70,000 ล้านบาท และทำให้รัฐสูญเสียการจัดเก็บรายได้ราว 10,000 ล้านบาท และจะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ หรือเข้าสู่ระบบภาษีเพิ่มราว 20% จากปีก่อน
ข้อมูล/ภาพ : ไทยรัฐ