สศก. เผย จีดีพีภาคการเกษตร ปี 67 ติดลบ1.1 % จากภาวะแล้งต้นปี น้ำท่วมปลายปี ขณะ “นฤมล”ดันยกระดับสินค้าเพิ่มรายได้เกษตรกร ตัดราคาพ่อค้าคนกลาง หวัง ปี68 จีดีพีเกษตรโต 2.8 %
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย ในเป็นประธานเปิดการสัมมนาและปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2567 และแนวโน้มปี 2568 Unbox and Unlock Thai Agriculture ปลดล็อกเกษตรไทย ทุกปัจจัยคือโอกาสพร้อม ว่า ประเทศไทยมีเนื้อที่ทางการเกษตรกว่า 147 ล้านไร่ หรือกว่า 46 % ของเนื้อที่ทั้งประเทศ มีประชากรอยู่ในภาคการเกษตรกว่า 30 ล้านคน ซึ่งในปีที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ภาคเกษตร มีสัดส่วนอยู่ที่ 8.58 %ของจีดีพีทั้งประเทศ ลดลงจาก 10 ปีที่แล้ว ที่มีสัดส่วนกว่า 11 % เนื่องจากมีบางส่วนถูกจัดอยู่ในกลุ่มภาคอุตสาหกรรม แต่หากมองภาพรวมแล้วภาคการเกษตรจะมีส่วนในการเติบโตของจีดีพีในภาพรวมถึง 30 % แม้ว่าสัดส่วนของภาคเกษตรจะลดลง แต่มูลค่าจีดีพีภาคเกษตรยังคงเพิ่มขึ้นกว่า 3,000 ล้านบาทจาก 10 ปีที่แล้ว
นอกจากนี้ภาคเกษตรไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายที่หลากหลาย อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงการปรับเปลี่ยนกฏด้านการค้าและ การลงทุนของโลก โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีแนวทางในการรับมือกับภัยธรรมชาติ ด้วยดําเนินมาตรการเชิงรุกร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการส่งเสริมการประกันภัยพืชผล บริหารจัดการความเสี่ยงให้เกษตรกรมีรายได้ที่แน่นอน ประกอบกับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรม เพื่อลดต้นทุน และต่อยอดสู่เกษตรและบริการมูลค่าสูง พร้อมมุ่งเน้นการทำเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ด้วยแนวทางของเศรษฐกิจแบบ BCG เพื่อรองรับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม
อีกทั้งส่งเสริมและยกระดับเกษตรกรให้ผลิตสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง รวมถึงการพัฒนา เครื่องมือในการติดตามสถานการณ์ภาคเกษตร เพื่อใช้วิเคราะห์ และเฝ้าระวังปัจจัยที่ส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อการทําการเกษตร นอกจากนี้การปรับปรุงกฎระเบียบและการศึกษากฎระเบียบและกฎหมายของประเทศคู่ค้า เพื่อพัฒนาเกษตรกรและพัฒนาปรับปรุงคุณภาพสินค้าเกษตรของไทยให้ทันต่อสถานการณ์
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวว่า ภาพรวมสถานการณ์ จีดีพีภาคเกษตรไทยในปี2567 การหดตัว 1.1 %เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยสาขาพืช สาขาประมง และสาขาบริการทางการเกษตร หดตัว ขณะที่สาขาปศุสัตว์ และสาขาป่าไม้ ยังคงขยายตัวได้ เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งและอุทกภัย
แต่แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 1.8 – 2.8 % เนื่องจากปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อการทำเกษตร ซึ่งจะทำให้สินค้าทางเกษตรโดยเฉพาะสินค้าประเภทพืชมีผลผลิตที่มาก และเพียงพอต่อความต้องการของตลาด รวมทั้งในปี 2568 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะมีการขยายการส่งออกสินค้าเกษตรกับประเทศคู่ค้าได้มากขึ้น ประกอบกับพฤติกรรมการค้าระหว่างประเทศของหลายประเทศคู่ค้าที่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจัยของความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์และภัยพิบัติทางธรรมชาติ คาดว่าจะเป็นโอกาสของประเทศไทยที่สามารถส่งออกสินค้าการเกษตรได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
ข้อมูล/ภาพ : กรุงเทพธุรกิจ