“กอบศักดิ์” ชี้ 4 เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอีก 5 ปี ข้างหน้า ทั้งเศรษฐกิจโลก–ท่องเที่ยวไทยฟื้น เงินลงทุนจากต่างประเทศ และตลาดเอเชีย–อาเซียนโต ลั่นไทยได้อานิสงส์นโยบายทรัมป์ 2.0 ขณะที่ สสว.เผยธุรกิจดาวรุ่ง และธุรกิจเฝ้าระวังรอบปี 67
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยในงานสัมมนา โค้งสุดท้ายลงทุน Thai ESG ว่า 4 เครื่องยนต์ที่นำไปสู่โอกาสระยะยาวของไทยใน 5 ปีข้างหน้า คือ
1.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นต่อเนื่องและเกิดการลงทุนหลังเงินเฟ้อเข้าสู่ภาวะปกติ มีการลดดอกเบี้ยอย่างน้อย 1 ปี ทำให้ภาคส่งออกดีขึ้น
2.การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว ที่เชื่อว่าปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามาทั้งหมด 40 ล้านคน
3.การลงทุนจากต่างประเทศเข้าไทย ซึ่งข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พบว่า 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปีนี้มีการลงทุนในไทยกว่า 700,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% เทียบช่วงเดียวกันของปี 66 โดยจำนวนนี้ 450,000 ล้านบาท
4.ตลาดเอเชียและอาเซียนจะเป็นตลาดการค้าในอนาคต เพราะใหญ่ถึงครึ่งหนึ่งของโลก
“อาเซียนจะเป็นเป้าหมายการลงทุนที่ดีที่สุด และยิ่งประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ามาจะเป็นผลดีและโอกาสกับไทย แม้จะได้รับผลกระทบจากกำแพงภาษี แต่นักวิเคราะห์มองว่า ผู้ผลิตอเมริกาไม่สามารถขยายกำลังการผลิตทดแทนความต้องการได้ อีกทั้งสินค้าจีนราคาแพงขึ้น 60% จากการเก็บภาษีเพิ่มเป็น 60% แต่ของไทยแพงขึ้นเพียง 10% ทำให้ราคาถูกกว่า และคาดจะไม่เกิดสงครามการเมืองระหว่างประเทศ ดังนั้น ปีหน้าไทยจะดีทั้งท่องเที่ยว ส่งออก ส่วนปีถัดไป และระยะยาวจะได้ประโยชน์จากการลงทุนต่างชาติ”
ด้านนางชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า ปี 67 เป็นปีที่ดีของการลงทุน จากดอกเบี้ยขาลง ซึ่งจากข้อมูลกองทุนรวมที่มีกว่า 700 กองทุน พบมากกว่า 80% มีผลตอบแทนเป็นบวก และกว่า 30% ของกองทุนและหุ้นเติบโตมากกว่า 10% อีกทั้งกองทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทยไม่ต่ำกว่า 70% มีผลตอบแทนเป็นบวกส่วนปี 68 เป็นปีที่ 2 ของดอกเบี้ยขาลง ที่จะส่งผลดีต่อธุรกิจไทย และตลาดหุ้นไทย เชื่อว่าเงินจะเข้ามาลงทุนในกองทุน และกองทุนรวม TESG ค่อนข้างมาก รวมถึงยังเป็นปีที่ดีของการลงทุนตราสารหนี้ ซึ่งดีกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก ส่วนทองคำยังไปต่อได้ด้วยนโยบายภาครัฐของสหรัฐฯ เช่นเดียวกับคริปโตเคอร์เรนซี จากการสนับสนุนของทรัมป์
ขณะที่นางสาวปณิตา ชินวัตร รักษาการ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวถึงธุรกิจดาวรุ่งดาวร่วงปี 67 ว่า จากการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลของ สสว.ในปี 67 เทียบกับปี 66 เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจใดมียอดขายเพิ่มขึ้นหรือลดลง โดยใช้เกณฑ์ยอดขายมากกว่า หรือ 30% จากปี 66 พบว่าปัจจัยที่ส่งผล คือ การเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคหลังโควิด-19, สภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและไม่แน่นอน รวมถึงแนวโน้มการปรับตัวสู่ธุรกิจคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ผลสำรวจพบว่า ธุรกิจดาวรุ่ง ได้แก่ ธุรกิจห้องพักรายเดือน, ธุรกิจการขายสินค้าบนช่องทางออนไลน์, ธุรกิจผลิตสื่อคอนเทนต์, ธุรกิจฟิตเนส/ยิมและการจัดแข่งกีฬา และธุรกิจการผลิตบรรจุภัณฑ์ ส่วนธุรกิจเฝ้าระวัง เป็นธุรกิจที่ไม่สามารถเปลี่ยนกระบวนการผลิตได้ง่าย และต้องใช้เทคโนโลยีดั้งเดิม ได้แก่ ธุรกิจผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก, ผลิตเคมีภัณฑ์, ผลิตเครื่องหนัง และผลิตสิ่งทอ ขณะที่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมผู้บริโภค และแข่งขันสูงขึ้น ได้แก่ ธุรกิจหอพักนักเรียนหรือนักศึกษา และธุรกิจสวนสนุก
ข้อมูล/ภาพ : ไทยรัฐ