นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ รักษาการผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงสถานภาพการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ณ เดือน ต.ค.67 มียอดเงินลงทุนสะสมสูงถึง 17.24 ล้านล้านบาท มีนิคมอุตสาหกรรม 70 แห่ง ท่าเรืออุตสาหกรรม 1 แห่ง ใน 17 จังหวัด คิดเป็นพื้นที่ 191,515 ไร่ มีโรงงาน 5,318 โรง เงินลงทุนสะสม 17.24 ล้านล้านบาท และมีแรงงานในนิคมอุตสาหกรรมกว่า 1 ล้านคน
โดยกลุ่มอุตสาหกรรม 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์ รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะ 2.ผลิตภัณฑ์โลหะ 3.ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 4.ผลิตภัณฑ์พลาสติก 5.เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี และนักลงทุนต่างชาติ 5 อันดับแรก คือ ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ สหรัฐฯ และไต้หวัน
- มั่นใจ Smart Park-ท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 เสร็จตามแผน
ส่วนความคืบหน้าโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Smart Park และโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ตามแผนพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ และส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายนั้น
- โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Smart Park ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง มีพื้นที่ 1,383.76 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม 621.55 ไร่ พื้นที่พาณิชยกรรม 150.54 ไร่ พื้นที่สีเขียว 238.32 ไร่ และพื้นที่สาธารณูปโภค 373.35 ไร่ มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เช่น ระบบสาธารณูปโภคใต้ดิน Floating Solar Farm ระบบ Internet (5G)/IoT และระบบรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะ
ขณะนี้ Smart Park มีความก้าวหน้างานก่อสร้าง 100% พร้อมเปิดดำเนินการตามแผน โดยมุ่งเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย LOW CARBON INDUSTRY ได้แก่ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมดิจิทัล
- โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 แบ่งเป็น 3 แปลง ได้แก่ ท่าเรือของเหลว ท่าเรือก๊าซ และคลังสินค้า โดยร่วมลงทุนกับ บริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล (GMTP) ขณะนี้งานก่อสร้างช่วงที่ 1 มีความคืบหน้าไปมาก โดยงานขุดลอกและถมทะเล งานก่อสร้างเขื่อนกันทราย และงานก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น คืบหน้ากว่า 90% แล้ว
- ชูเทรนด์ใหม่ “นิคมอุตสาหกรรมยั่งยืน”
เป้าหมายการดำเนินงานในอนาคตของ กนอ. ภายใต้แนวคิด “52nd I-EA-T SPIRIT: EMPOWERING SUSTAINABLE FUTURE เสริมสร้างอนาคตนิคมไทย ก้าวต่อไปสู่ความยั่งยืน” มุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน โดยส่งเสริมการอยู่ร่วมกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมและชุมชน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases : GHGs) โดยในปี 2568 ตั้งเป้าลดการปล่อย GHGs ในภาพรวมอย่างน้อย 2,500,000 kg CO2e รวมทั้งส่งเสริมพลังงานทางเลือก และมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutralitb ยกระดับโรงงานให้ได้มาตรฐานอุตสาหกรรมสีเขียว 100% ขณะเดียวกันยังมุ่งมั่นพัฒนาองค์กรในเกณฑ์มาตรฐานต่าง ๆ เช่น ECO 5 มิติ, SMART ECO 4.0, ISO 14001 เพื่อยกระดับนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ นอกจากนี้ยังมีการจัดทำ Roadmap ในการพัฒนาที่ยั่งยืนระยะยาว โดยมีเป้าหมายการเข้าถึงน้ำสะอาด พลังงานสะอาด การจ้างงานที่ดี การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ข้อมูล/ภาพ : สำนักข่าวอินโฟเควสท์