“พีระพันธุ์” ให้ของขวัญปีใหม่ ลั่นตรึงค่าไฟที่ 4.18 บาท/หน่วย แถมดีเซลที่ 33 บาทไปอีก 3 เดือน สั่ง กฟผ. กกพ. ปตท. ร่วมถกหาวิธีลดค่าไฟให้มากกว่านี้ พร้อมดันร่างกฎหมายสำรองน้ำมัน SPR เข้าสภาต้นปีหน้า เปลี่ยนวิธีสมทบกองทุนน้ำมันฯ เป็นน้ำมันแทนเงิน มั่นใจช่วยกดราคาน้ำมันถูกลงลิตรละ 2.50 บาท
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้เตรียมตรึงราคาค่าไฟไว้ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย งวดมกราคม-เมษายน 2568 โดยยืนยันว่าจะไม่มีการขึ้นค่าไฟอย่างแน่นอน รวมถึงพยายามศึกษาหาแนวทางที่สามารถทำให้ราคาค่าไฟถูกลง ให้ได้ต่ำกว่า 4.18 บาทต่อหน่วย เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2568 ให้กับประชาชน
ตรึงค่าไฟที่ 4.18 บาท/หน่วย
นายพีระพันธุ์กล่าวต่อไปว่า ตนมีความตั้งใจว่าจะพยายามรักษาค่าไฟเพื่อช่วยค่าครองชีพของประชาชน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐ ทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็ต้องพร้อมที่จะเข้ามาดูแลค่าใช้จ่ายของประชาชน ซึ่งพยายามบริหารจัดการให้เป็นไปอย่างเรียบร้อยในทุก ๆ ด้าน ประชาชนไม่เดือดร้อน ดังนั้นการบริหารจัดการสภาพคล่องถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ค่าไฟถูกลง อย่างไรก็ตาม การพิจารณาเสนอแนวทางค่าไฟที่เหมาะสมเป็นอำนาจของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไม่ได้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีโดยตรง แต่ขณะเดียวกัน ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง กฟผ. กกพ. และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ก็จะพูดคุยหารือถึงความเป็นไปได้ในการพิจารณาค่าไฟที่เหมาะสมในราคาที่ถูกลงและไม่สร้างผลกระทบให้กับประชาชน
ต่ออายุดีเซล 33 บาท/ลิตร
ส่วนราคาน้ำมันดีเซล กระทรวงพลังงานก็จะเตรียมต่ออายุมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ต่อไปอีก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 มีนาคม 2568 หลังจากจะหมดอายุในวันที่ 31 ธันวาคม 2567
“พยายามตรึงไว้หมด ทั้งราคาค่าไฟและราคาน้ำมันดีเซล เพื่อให้ประชาชนไม่เดือดร้อน ขอให้มั่นใจว่าค่าไฟงวดปีใหม่นี้จะไม่เกิน 4.18 บาทต่อหน่วยแน่นอน” นายพีระพันธุ์กล่าว
ส่วนความคืบหน้ากรณีการร่างกฎหมายระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเชิงยุทธศาสตร์ Strategic Petroleum Reserve หรือ SPR นายพีระพันธุ์กล่าวว่า ระบบ SPR จะเป็นแนวทางการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันผ่านการบริหารกลไกราคาน้ำมัน โดยใช้ปริมาณน้ำมันในสต๊อก ซึ่งไม่ได้ใช้เงินในการอุดหนุนเหมือนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำอยู่ในปัจจุบัน
ใช้ SPR ดูแลราคาน้ำมัน
ในอดีตกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงถูกจัดตั้งขึ้นขณะเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันโลก พ.ศ. 2516-2517 ตามกฎหมายฉบับเดิมกำหนดให้ผู้นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงนำส่งกำไรที่เกิดจากการเพิ่มค่าเงินบาทเข้ากองทุนรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง (เงินตราต่างประเทศ) เพื่อเก็บไว้ใช้ทดแทนเมื่อราคาน้ำมันดิบเพิ่มสูงขึ้น เรียกว่าเป็นการนำเงินจากผู้ค้าน้ำมันมาลงขันไว้ เมื่อเกิดวิกฤตปัญหาก็นำเงินส่วนดังกล่าวมาชดเชย ซึ่งแน่นอนว่ากฎหมายถูกตั้งขึ้นเป็นระยะเวลากว่า 50 ปี ปัจจุบันกลับส่งผลกระทบต่อประชาชนและเงินที่ถูกจัดเก็บมีจำนวนไม่เพียงพอ เนื่องจากมูลค่าของเงินลดลง แต่สวนทางกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ผันผวนและราคาสูงขึ้น ส่งผลให้ปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯเป็นหนี้ติดลบ 85,997 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2567)
ขณะเดียวกัน ก่อนหน้าที่จะมีการออก พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 กระทรวงพลังงานจะมีคณะทำงานดูแลกำหนดเพดานภาษีน้ำมันและดูแลการใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แต่เมื่อ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่มีผลบังคับใช้ อำนาจในการกำหนดเพดานภาษีน้ำมันได้ถูกตัดไป ทำให้กระทรวงพลังงานคงเหลือเพียงอำนาจดูแลกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเท่านั้น ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯสร้างหนี้ให้กับประเทศ
ช่วยน้ำมันถูกลง 2.50 บ./ลิตร
“กฎหมายใหม่ที่จะออกมาใช้นั้น จะไม่เก็บเป็นเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ แต่จะเก็บเป็นน้ำมันจากผู้ค้า ซึ่งถือเป็นการลดภาระและลดการเรียกเก็บเงินจากผู้บริโภคได้ ซึ่งคาดว่าจะลดลงถึง 2.50 บาทต่อลิตร” นายพีระพันธุ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม กฎหมายการตั้งทุนสำรองน้ำมันเป็นการสร้างระบบอ้างอิงต้นทุนน้ำมันของไทย หรือ Cost Plus หากสามารถพัฒนาระบบอ้างอิงต้นทุนราคาน้ำมันของไทยได้ ก็สามารถยกเลิกการอ้างอิงราคาน้ำมันตลาดสิงคโปร์ ทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกสะท้อนราคาตลาดโลกมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้มีการพูดคุยกับผู้ค้าน้ำมันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการเตรียมนำเข้ารัฐสภาในต้นปี 2568
เปลี่ยนหนี้กองทุนเป็นทรัพย์สิน
“หลักการคือจะนำน้ำมันสำรองนี้มาดูแลปัญหาราคาน้ำมันแทนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะเปลี่ยนกองทุนน้ำมันฯที่ใช้เงิน และสร้างหนี้สาธารณะ ให้กลายมาเป็นทรัพย์สินของประเทศ”
ทั้งนี้ ปัจจุบันรัฐสามารถจัดเก็บน้ำมันได้ทุกวันเฉลี่ยวันละ 10% หรือ 10 ล้านลิตรต่อวัน หากเก็บได้ตามเป้าดังกล่าวก็จะได้ 3,000 ล้านลิตรต่อปี และขณะนี้มีคลังสำรองน้ำมันเหลือ 2,500 ล้านลิตร ทั้งนี้ รัฐจะต้องมีคลังจัดเก็บน้ำมันสำรองในเบื้องต้นตามมาตรฐานสากล 90 วัน หรือประมาณ 9,000 ล้านลิตร เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับที่รัฐบาลสามารถควบคุมราคาได้เอง
ข้อมูล/ภาพ : ประชาชาติ