สศช.เตือนสัญญาณอันตราย หลังพบตัวเลขการผิดนัดชำระหนี้บ้านพุ่ง หนี้เสียขยายตัว 23.2% สะท้อนให้เห็นถึงสถานะทางการเงินของครัวเรือนที่ตึงตัว เสี่ยงกระทบเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจประเทศในระยะยาว
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 ปี 2567 ว่า ขณะนี้ สศช. เห็นสัญญาณแนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้บ้านที่เร่งตัวขึ้น สะท้อนจากข้อมูลเครดิตบูโร ทั้งการขยายตัวของมูลค่าหนี้เสียที่สูงถึง 23.2% จาก 18.2% จากไตรมาสที่ผ่านมา และสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเป็น 4.34% จาก 3.98% ของไตรมาสก่อนหน้า
ทั้งนี้การเลือกที่จะผิดนัดชำระหนี้บ้าน ที่ถือเป็นสินทรัพย์จำเป็น ทั้งต่อการอยู่อาศัยและบางส่วนยังใช้เป็นสถานที่ในการประกอบอาชีพ สะท้อนให้เห็นถึงสถานะทางการเงินของครัวเรือนที่ตึงตัว
ที่ผ่านมาจากผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่า ลูกหนี้ที่มีการก่อหนี้หลายประเภทเกือบ 1 ใน 3 เลือกที่จะผิดนัดหรือหยุดชำระสินเชื่อบ้านก่อนสินเชื่อบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคล เนื่องจากมีความสามารถในการชำระหนี้จำกัด จึงเลือกรักษาวงเงินที่เหลือในสินเชื่อบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลไว้จับจ่ายใช้สอยแทน
อีกทั้งเมื่อพิจารณาหนี้เสียของสินเชื่อที่อยู่อาศัยจำแนกตามวงเงินสินเชื่อ จะพบว่า วงเงิน ต่ำกว่า 3 ล้านบาท มีสัดส่วนหนี้เสียสูงเมื่อเปรียบเทียบกับวงเงินอื่น สะท้อนให้เห็นว่า ครัวเรือนกลุ่มดังกล่าว เป็นกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นตัวอีกด้วย
ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหาหนี้เสียของสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
ขณะที่แนวโน้มการก่อหนี้ในกลุ่มสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลยังเพิ่มขึ้น โดยเป็นหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และอัตราการผิดนัดชำระที่สูง ซึ่งหากครัวเรือนไม่ระมัดระวังในการก่อหนี้หรือไม่มีวินัยทางการเงิน จะนำไปสู่การติดกับดักหนี้
แม้ว่าปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยจะเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหานี้ผ่านมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) แต่สัดส่วนสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลยังคิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด และมีสัดส่วนของมูลค่าหนี้เสีย (NPLs) สูงที่สุดเมื่อเทียบกับหนี้ครัวเรือนประเภทอื่น
อย่างไรก็ตามสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนในแต่ละประเภทสินเชื่อในไตรมาสสอง ปี 2567 พบว่า สินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ขยายตัว 3% ชะลอลงจาก 3.5% ของไตรมาสก่อนเนื่องจากการสิ้นสุดการผ่อนปรนมาตรการควบคุมสินเชื่อบ้าน (LTV) และการปฏิเสธสินเชื่อของสถาบันการเงินสะท้อนจากมูลค่าสินเชื่อปล่อยใหม่ของสินเชื่อที่อยู่อาศัย จากข้อมูลเครดิตบูโรในไตรมาสสอง ปี 2567 ที่หดตัวในทุกวงเงินสินเชื่อ
ขณะที่ กลุ่มสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่น ขยายตัวชะลอลงอยู่ที่ 4.1% จาก 5% ของไตรมาสที่ผ่านมา โดยสินเชื่อส่วนบุคคลซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า 70% ของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่นทั้งหมด ขยายตัว 4.4% เทียบกับ 4.2% ของไตรมาสก่อนหน้า ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับขยายตัวชะลอลงจาก 10.4% เหลือ 6.3% และสินเชื่อบัตรเครดิต หดตัว 1.1%
ทั้งนี้แม้ภาพรวมการก่อหนี้ของสินเชื่อกลุ่มนี้จะขยายตัวชะลอลง แต่ยังต้องเฝ้าระวังและติดตามการกู้ยืมของครัวเรือนเนื่องจากเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Unsecured Loan) และปัจจุบันสัดส่วนของสินเชื่อประเภทนี้ต่อหนี้ครัวเรือนทั้งหมดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จาก 25% ในไตรมาสหนึ่ง ปี 2555 มาเป็น 27.9% หรือ เกือบ 1 ใน 3 ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด
ข้อมูล/ภาพ : ฐานเศรษฐกิจ