ผู้ประกอบการภาคธุรกิจ 5 ประเทศ มาเลเซีย-อินโดนีเซีย-ไทย-เวียดนาม-ฟิลิปปินส์ ส่งสัญญาณผนึกกำลังต้าน “สินค้าจีน” ทะลักอาเซียน จากนโยบายภาษีกีดกันสินค้าจีน ของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิสหรัฐฯ คาดการณ์ปี 2568 การค้าแข่งขันดุเดือด
นายนาคาญ์ ทวิชาวัฒน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และประธานคลัสเตอร์สุขภาพและความงาม เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ล่าสุดและได้ประธานาธิบดีคนใหม่เป็น โดนัลด์ ทรัมป์ เห็นได้ชัดว่ามีนโยบายจะปิดกั้นสินค้าจากจีน ในกลุ่มผู้ประกอบการบางส่วนของไทยจึงได้หารือถึงเรื่องนี้และมองไปยังการแข่งขันของภาคธุรกิจที่จะสูงขึ้นปี 2568 เพราะสินค้าจีนจะทะลักเข้ามาในประเทศไทยและในประเทศภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น
สถานการณ์ดังกล่าว ถือเป็นหนึ่งในผลกระทบที่จะเกิดโดยตรง ขณะเดียวกันความตึงเครียดของสงครามทั้งฝั่งรัสเซีย-ยูเครน หรือฝั่งอิสราเอล น่าจะเบาบางลง แต่ต้องรอดูนโยบายที่ชัดเจนของสหรัฐต่อไป โดยภาพรวมถือว่ามีทั้งผลดีและผลเสีย
“ตอนนี้ผู้ประกอบการบางส่วนจากหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สภาธุรกิจต่างๆ จาก 5 ประเทศได้คุยกันภายในทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ โดยพยายามดูสินค้าจากตลาดจีนและมองไปถึงการช่วยเหลือกันภายในอาเซียน เกี่ยวกับการผลิตสินค้าเพื่อให้ต้นทุนลดลงไปกว่าเดิม หรือผลิตสินค้าเพื่อใช้กันเองในอาเซียนมากขึ้น เพราะหากมัวแต่แข่งขันกันเองขณะที่สินค้าราคาถูกจากจีนทะลักเข้ามา จะเกิดผลเสียอาจถึงขั้นปิดโรงงานได้ อีกทั้งต้องจับมือเป็นพาร์ทเนอร์หรือเป็นพันธมิตรกับจีนในบางส่วนด้วย เพื่อลดข้อเสียเปรียบทางด้านการค้า เพราะสุดท้ายเราก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงจีนได้”
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมในอาเซียน หรือแม้กระทั่งอินฟลูเอนเซอร์ ต้องจับมือกันเพื่อแสดงศักยภาพทางด้านธุรกิจและการค้า โดยใช้แนวทางการเป็น “ประเทศอาเซียน” เพื่อให้มีอำนาจต่อรองและผ่านวิกฤตการค้าไปได้ เพราะหากรวมจำนวนประชากรแล้วจะเทียบกับ 1 ใน 3 ของประเทศจีน
นายนาคาญ์ กล่าวว่า ปัจจุบันสินค้าจากจีนที่เริ่มรุกตลาดอย่างเห็นได้ชัดในตอนนี้ คือ เหล็กเส้น วัสดุการก่อสร้าง และอะลูมิเนียม ซึ่งมีราคาถูกมากจนประเทศไทยเริ่มผลิตน้อยลงและรับซื้อจากจีนเข้ามาขาย โดยคุณภาพอาจจะไม่แตกต่างกันมากนัก
เรื่องนี้ถือว่าจีนมีข้อได้เปรียบทางด้านบุคลากรและการผลิตที่มากกว่า สามารถทำกำไรต่อชิ้นได้น้อยลงแต่จำนวนการขายทำได้มากขึ้นจึงได้เปรียบ แต่ก็มีสินค้าบางประเภทที่จีนยังไม่มีเครดิตในตลาดโลกมากนัก อย่างเช่น สินค้าด้านสุขภาพและความงาม แต่วัตถุดิบหลายอย่างที่ใช้ในการผลิตสินค้าของผู้ประกอบการก็รับมาจากจีน ฉะนั้น ในอนาคตอันใกล้จีนจะรุกตลาดเข้ามาแน่นอน
ข้อมูล/ภาพ : ฐานเศรษฐกิจ