“ภัยแล้ง” กำลังจะกลับมาสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลโลก ล่าสุดมีรายงานจาก Czarnikow Group Ltd. โบรกเกอร์ค้าน้ำตาลรายใหญ่ของโลกเข้ามาว่า ต้นปี 2568 ผลผลิตน้ำตาลทั่วโลกจะลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี เนื่องจากผลผลิตอ้อยของบราซิล ผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้รับความเสียหายจากภัยแล้ง
Datagro บริษัทที่ปรึกษาทางด้านการเกษตรคาดการณ์ว่า น้ำตาลจากบราซิลจะครองส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ประมาณ 75% ของน้ำตาลดิบที่จะซื้อขายกันในปี 2567
ด้าน Sucres et Denrees SA โบรกเกอร์สินค้าโภคภัณฑ์จากฝรั่งเศสเองเชื่อว่า ผลผลิตน้ำตาลน่าจะตึงตัวมากในช่วงไตรมาส 1/2568 ส่วน Wilmar International หนึ่งในผู้ค้าน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดกล่าวว่า ตลาดน้ำตาลโลกกำลังเผชิญกับความเสี่ยงอย่างมากที่จะเกิดการขาดแคลนน้ำตาลของบราซิลในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2568 เนื่องจากสินค้าคงคลังของบราซิลต่ำและการเริ่มต้นการผลิตน้ำตาลในปี 2568/2569 ของบราซิล ก็เป็นไปอย่างล่าช้าจากผลผลิตอ้อยที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง
ล่าสุดมีรายงานเข้ามาว่า Unica ได้ออกตรวจสอบสต๊อกของโรงงานน้ำตาลในบราซิลทีละโรงพบว่า สต๊อกได้ลดลงมากจาก 4.3 ล้านตัน เหลือแค่ 1.9 ล้านตัน โดยสต๊อกน้ำตาลดิบ ณ วันที่ 1 เมษายน 2567 เหลือเพียง 900,000 ตันเท่านั้น ซึ่งต่ำสุดเท่าที่มีการรายงานมา ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลที่สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมผลผลิตน้ำตาลจึงมีความตึงตัวมาก
สำหรับราคาน้ำตาลที่คาดการณ์ว่าจะพุ่งขึ้นมากจากเหตุการณ์อุปทานน้ำตาลตึงตัว เอาเข้าจริงยังคงซื้อขายกันอยู่ที่ระดับ 21-22 เซนต์/ปอนด์ แต่ราคาอาจปรับตัวสูงขึ้น ขึ้นอยู่กับผลผลิตอ้อยจริงของบราซิล ที่ได้รับกระทบจาก “ภัยแล้ง” ลดลงมากแค่ไหน กับการสต๊อกน้ำตาลภายในประเทศของอินเดีย
จับตาอ้อยขั้นต้นปี 2567/2568
ด้านผลผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศไทยในปี 2566/2567 ในครอปที่ผ่านมาอยู่ที่ 82,167,065 ตัน (ปริมาณอ้อยส่งเข้าโรงงานน้ำตาล แบ่งเป็น อ้อยสด 57,811,117 ตัน-อ้อยไฟไหม้ 24,355,947 ตัน) ผลิตน้ำตาลทรายได้ในปริมาณ 8,808,268 ตัน โดยอ้อยที่ส่งเข้าโรงงานน้ำตาลในปี 2566/2567 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565/2566 พบว่ามีปริมาณลดลง 11,720,817 ตัน หรือลดลง 12.48%
ขณะที่ผลผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายปี 2567/2568 ทางชาวไร่อ้อยคาดการณ์ว่า จะอยู่ที่ประมาณ 93 ล้านตัน ส่วนสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) คาดการณ์อยู่ที่ 92 ล้านตัน หรือปริมาณอ้อยเพิ่มขึ้นจากปี 2566/2567 แน่นอน
อย่างไรก็ตาม ผลผลิตอ้อยของบราซิลที่ลดลงจากภัยแล้ง จนโบรกเกอร์น้ำตาลโลกคาดการณ์ว่า น้ำตาลจะตึงตัวในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 นั้น ได้สร้างความหวังให้กับชาวไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาล จะสามารถจำหน่ายน้ำตาลทรายในราคาที่สูงขึ้นได้ นั่นหมายความว่า เมื่อคำนวณกลับมาเป็นราคาอ้อยของชาวไร่อ้อยก็จะเพิ่มขึ้นด้วย หรือ “ไม่ต่ำกว่า” ราคาอ้อยขั้นต้นของปี 2566/2567 ที่สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 1,420 บาท/ตัน ซึ่งคำนวณจากราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกที่ 27.35 เซนต์/ปอนด์
“ชาวไร่อ้อยมีความหวังจากราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกจะปรับตัวสูงขึ้นจากความตึงตัวของผลผลิตน้ำตาลของบราซิล ที่คาดว่าจะเกิดการขาดแคลน ขณะที่ต้นทุนการปลูกอ้อยของชาวไร่อ้อยอยู่ที่ตันละ 1,400 บาท นั่นหมายความว่า ราคาอ้อยขั้นต้นที่ชาวไร่อ้อยจะไม่ขาดทุน ต้องสูงกว่าตันละ 1,400 บาท เหมือนอย่างปี 2566/2567 ทว่าหากคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นจากราคาน้ำตาลทรายในขณะนี้ ที่วิ่งอยู่ระหว่าง 20-21 เซนต์/ปอนด์ ชาวไร่อ้อยก็จะได้ราคาอ้อยขั้นต้นของปี 2567/2568 อยู่ประมาณ 1,100 บาท/ตันเท่านั้น” สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ระบุ
คาดราคาไม่พุ่งอย่างหวัง
นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อย เขต 7 หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลจากการที่บราซิลมีผลผลิตอ้อยลดลงจากปัญหาภัยแล้งและไฟไหม้ อาจส่งผลต่อราคาน้ำตาลตลาดโลกที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยไปอยู่ที่ 23 เซนต์/ปอนด์ จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 21 เซนต์/ปอนด์
แม้ว่าในข้อเท็จจริงแล้วนั้น ประเทศอื่นที่เป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อย่างอินเดีย และประเทศไทย จะมีผลผลิตที่เพิ่มขึ้นและอาจทดแทนส่วนที่ผลผลิตอ้อยของบราซิลหายไป แต่ก็ไม่ได้ชดเชยปริมาณน้ำตาลที่หายไปจากตลาดโลกมากนัก เพราะด้วยปริมาณอ้อยของบราซิลมีจำนวนมาก ต่อให้ผลผลิตจากไทยเข้าไปแทนที่ “ก็ไม่สามารถทดแทนส่วนที่บราซิลหายไปได้”
ดังนั้น ในฤดูกาลปี 2568/2569 ทางสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่า ราคาน้ำตาลโลก “อาจจะ” ทรงตัวอยู่ในระดับที่ 21-22 เซนต์/ปอนด์ หรือไปแตะที่ 23 เซนต์/ปอนด์ ขึ้นอยู่ที่ว่าผลผลิตอ้อยทั่วโลกจะลดลงหรือไม่ แต่ดูแนวโน้มแล้วสภาพอากาศของไทยฝนดี ผลผลิตอ้อยจึงค่อนข้างที่จะมากกว่าปีที่ผ่านมา (ปี 2566/2567)
“ราคาน้ำตาลจะพุ่งขึ้นไปได้อีกจากสาเหตุที่ว่า บราซิลจะต้องเกิดหายนะภัยแล้งอย่างหนักและเจอกับปัญหาโรคพืชพร้อมกัน จนทำให้ผลผลิตอ้อยลดลงต่อเนื่อง ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอาจทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับขึ้นมาอยู่ที่ 25 เซนต์/ปอนด์ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์อยู่ในลักษณะค่อนข้างที่จะประเมินได้ยากว่า ในฤดูกาลหน้า (2567/2568) จะเป็นอย่างไร เพราะตัวแปรทุกอย่างมันคือเรื่องของสภาพอากาศว่าจะดี หรือแล้ง” นายนราธิปกล่าว
ในขณะที่ผลผลิตอ้อยในไทยฤดูกาลนี้ 2567/2568 ที่กำลังจะเปิดหีบช่วงเดือนธันวาคม 2567 คาดว่าจะมีอ้อยเข้าหีบประมาณ 93 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลได้ประมาณ 10 ล้านตัน เมื่อดูราคาน้ำตาลโลกแล้ว คือ 21 เซนต์/ปอนด์ จึงคาดว่าในการประชุม คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เพื่อพิจารณาราคาอ้อยขั้นต้นของปี 2567/2568 ในเร็ว ๆ นี้ เมื่อคำนวณแล้วอาจจะอยู่ที่ประมาณ 1,100 บาท/ตัน หรือลดลงจากราคาอ้อยขั้นต้นเมื่อฤดูกาลปีที่แล้ว 2566/2567 ราคาอ้อยขั้นต้นอยู่ที่ 1,400 บาท/ตัน เพราะราคาน้ำตาลตลาดโลกพุ่งไปอยู่ที่ 27 เซนต์/ปอนด์ แม้ว่าผลผลิตอ้อยจะต่ำเหลือเพียง 82 ล้านตันก็ตาม
ชาวไร่อ้อยเล็งขอเงินตัดอ้อยสด
นอกจากนี้ ในการประชุม กอน. ยังจะมีการหารือถึง “เงินช่วยเหลือค่าตัดอ้อยสด 120 บาท/ตัน” ที่ทางรัฐบาลได้เห็นชอบจะจ่ายให้กับชาวไร่อ้อย ซึ่งเป็นการจูงใจให้ชาวไร่ตัดอ้อยสดแทนการเผา เพื่อลดฝุ่นมลพิษ PM 2.5 และขณะนี้เงินช่วยเหลือยังไม่ได้รับการพิจารณา ในขณะที่สถานการณ์การเผาอ้อยยอมรับว่า ในบางพื้นที่ชาวไร่อ้อยยังต้องพึ่งพาการเผา เพราะยังคงมีหลายปัจจัยที่ทำให้ชาวไร่ต้องเลือกใช้วิธีดังกล่าว เช่น อ้อยล้ม ไม่สามารถใช้รถตัดอ้อยเข้าพื้นที่เพื่อตัดอ้อยได้ หรือปัญหาแรงงานตัดอ้อยมีไม่เพียงพอและอาจไม่ทันการส่งอ้อยเข้าหีบ ต้นทุนที่สูงขึ้นจากค่าแรง ค่าเชื้อเพลิง รวมถึงเหตุสุดวิสัยจากไฟไหม้ ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนจัด
อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่าชาวไร่บางกลุ่มในสัดส่วนน้อยอาจยังเลือกวิธีการเผา เพราะไม่สามารถสู้กับต้นทุนที่แพงได้ แต่อย่างน้อยหากรัฐบาลเร่งการจ่ายเงินช่วยเหลือ ชาวไร่ก็ยังสามารถนำมาบริหารจัดการเลือกการตัดอ้อยสดเพิ่มมากขึ้น
ส่งออกน้ำตาลเท่าไรก็ขายหมด
ด้าน นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL กล่าวว่า เป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะได้สัดส่วนตลาดเพิ่มจากการส่งออกน้ำตาล หลังจากที่ผลผลิตอ้อยและน้ำตาลของบราซิลลดลงก็เป็นไปได้ เพราะปัจจุบันไทยส่งออกน้ำตาลไปประเทศเพื่อนบ้าน “ไม่ว่าปริมาณเท่าไรก็ขายหมด” นั่นหมายถึงตลาดยังคงมีความต้องการที่จะใช้ และบริโภคน้ำตาลทรายอยู่
ดังนั้นไทยจะได้อานิสงส์มากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับผลผลิตอ้อยในครอปนี้ (2567/2568) ด้วยว่า จะได้มากน้อยเพียงใด สำหรับปี 2567 นี้เป็นความโชคดีของฝั่งภูมิภาคเอเชียที่มีสภาพอากาศดี ฝนตกชุก ส่งผลให้ผลผลิตอ้อยมีปริมาณเพิ่มขึ้นมากในปี 2567/2568 นี้ “แน่นอน”
และคาดการณ์ว่า หากสภาพอากาศยังเป็นแบบนี้ เชื่อว่าฤดูกาลปี 2568/2569 ผลผลิตอ้อยอาจเพิ่มเป็น 95 ล้านตัน หรืออาจสูงได้ถึง 100 ล้านตัน ในขณะที่ราคาน้ำตาลโลกจะยังเห็นค่าเฉลี่ยทรงตัวเท่ากับปีนี้ หรือประมาณ 21 เซนต์/ปอนด์อยู่
ส่วนราคาน้ำตาลทรายในประเทศไทย “จะต้องคงปริมาณให้ได้ตามความต้องการบริโภคภายในประเทศก่อน ถึงจะส่งออกต่างประเทศได้” ปัจจุบันราคาน้ำตาลหน้าโรงงานอยู่ที่ 21-22 บาท/กก. ราคาขายตามร้านค้าทั่วไปอยู่ที่ 24-25 บาท/กก. และขายในห้างสรรพสินค้า “บวกค่าการตลาด” จะอยู่ที่ประมาณ 27 บาท/กก. โดยน้ำตาลทรายยังคงเป็นสินค้าควบคุม มีกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ดูแล
และในช่วงใดที่มีการปรับขึ้นราคาน้ำตาล หรือเกิดการร้องเรียนว่า มีการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค คณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) กระทรวงพาณิชย์ ก็จะเข้าไปติดตามดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคได้
ข้อมูล/ภาพ : ประชาชาติ