คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ
ในวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมานี้ ประเทศไทยโดย นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำระหว่าง กลุ่มประเทศ BRICS กับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา หรือ BRICS Plus Summit ณ เมืองคาซาน รัสเซีย เพื่อหารือแนวทางในการแก้ปัญหาความท้าทายระดับภูมิภาคและระดับโลก และแนวทางการส่งเสริมระบบพหุภาคีเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์ต่อประเทศกำลังพัฒนาตามคำเชิญของ นายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย
ปัจจุบัน กลุ่ม BRICS มีสมาชิก 10 ประเทศ ได้แก่ รัสเซีย บราซิล จีน อินเดีย แอฟริกาใต้ อิหร่าน อียิปต์ เอธิโอเปีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย ขณะที่ประเทศไทยได้ยื่นหนังสือแสดงความประสงค์ในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS ไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
โดยเชื่อว่า การเข้าร่วมเป็นสมาชิก กลุ่ม BRICS จะช่วยยกระดับบทบาทของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ ด้วยการกระชับ “ความร่วมมือ” กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ที่พร้อมจะก้าวขึ้นมามีบทบาททางเศรษฐกิจและการเมือง และยังเพิ่มบทบาทไทยในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศโดยเฉพาะ การปฏิรูประบบเศรษฐกิจการเงินและการส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ
ทว่าการเข้าร่วมเป็นสมาชิก กลุ่ม BRICS ของไทยในขณะนี้ ได้เกิดขึ้นภายใต้ความตึงเครียดระหว่างมหาอำนาจจากกรณี สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน สงครามในฉนวนกาซาและเวสต์แบงก์ ความรุนแรงในเลบานอนตอนใต้ และการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกต่อรัสเซียและอิหร่าน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็น 1 ในสมาชิกของกลุ่ม BRICS จนดูเหมือนว่า จะมีการแบ่งโลกออกเป็น 2 ขั้วภายใต้มุมมองของประเทศผู้นำใน กลุ่ม BRICS ที่ต้องการให้สมาชิกพิจารณาที่จะต้องเลือกข้างใดข้างหนึ่งอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น
แน่นอนว่า การประชุม BRICS Plus Summit ในครั้งนี้ ผู้นำรัสเซียได้แสดงให้โลกเห็นว่า ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ความพยายามที่ชาติตะวันตก หรืออีกนัยหนึ่ง กลุ่ม G7 ที่พยายามจะโดดเดียวรัสเซียนั้น ล้มเหลว รัสเซียมิได้อยู่เพียงคนเดี่ยว แต่รัสเซียยังมี กลุ่ม BRICS ซึ่งประเทศไทยพร้อมที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกต่อไปด้วย ภายใต้ “ความร่วมมือ” 3 เสา ทั้งเสาทางด้านการเมืองและความมั่นคง เสาทางด้านเศรษฐกิจและการเงิน และเสาทางด้านมนุษยธรรมและวัฒนธรรม
ดังนั้น การกำหนดท่าทีของประเทศไทยในอนาคตที่กำลังจะเข้าร่วมเป็น 1 ในประเทศสมาชิก กลุ่ม BRICS จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ว่า ทำอย่างไรที่ประเทศไทยจะไม่ถูกลากดึงเข้าสู่ความขัดแย้งระหว่าง ชาติผู้นำกลุ่ม BRICS กับชาติตะวันตก จากเสาทางด้านการเมืองและความมั่นคง โดยไทยควรจะต้องมุ่งแสวงหาความร่วมมือจากเสาด้านเศรษฐกิจการเงิน และเสาทางด้านมนุษยธรรม วัฒนธรรม เป็นสำคัญมากกว่า
ข้อมูล/ภาพ : ประชาชาติ