กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมพัฒนาที่ดิน จับมือบางจาก และบีบีจีไอ สนับสนุนเกษตรกรไทย ลดการเผาตอซังและฟางข้าว เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ด้วยจุลินทรีย์
วันที่ 17 ตุลาคม 2567 นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวระหว่างเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการ “ลดเผา เบาฝุ่น” สนับสนุนเกษตรกรไทยลดการเผาตอซังและฟางข้าว เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ด้วยจุลินทรีย์ ระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ว่า การลงนามครั้งนี้เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาทดสอบเทคโนโลยีชีวภาพ
โดยการทดสอบประสิทธิภาพจุลินทรีย์ย่อยสลาย ร่วมกับบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ภายใต้บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พบว่าได้ผลเป็นอย่างดี จากการทดสอบในห้องปฏิบัติการและพื้นที่ของเกษตรกร จุลินทรีย์สามารถย่อยสลายตอซังและฟางข้าวได้ภายใน 7 วัน มีขั้นตอนการใช้งานอย่างง่าย โดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและสิ่งแวดล้อม เพียงฉีกซองผสมน้ำ เตรียมหัวเชื้อในปริมาณ 100 กรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร สำหรับใช้ในพื้นที่ 1 ไร่ ที่มีน้ำท่วมตอซัง
โดยผลการทดสอบเกษตรกรยอมรับในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่เผาในพื้นที่การเกษตรของตนเอง และมีความพึงพอใจต่อการใช้จุลินทรีย์เป็นอย่างมาก โดยในระยะต่อไปมีแผนที่จะสนับสนุนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 2,400 ราย ในพื้นที่ 59,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี นนทบุรี สระบุรี ลพบุรี ชัยนาท และสุพรรณบุรี
อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดการเผาของเกษตรกร จะต้องใช้เทคโนโลยี และผลการวิจัย ศึกษา ทดสอบ และเห็นผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจริงของการทดสอบ ซึ่งจะเป็นแนวทางในการบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ภาคการเกษตร ร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน เพื่อสร้างอากาศสะอาด ฟื้นฟูและรักษาสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน
ทั้งนี้ ในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตรได้ขับเคลื่อนนโยบาย 3R Model ตามนโยบายรัฐบาลเพื่อเป็นแนวทางในการลดปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร เป้าหมายสำคัญ คือทำความเข้าใจกับเกษตรกรให้เข้าใจถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยไม่เผา และส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุทางการเกษตร โดยพื้นที่ปลูกข้าว 1 ไร่ จะมีปริมาณตอซังและฟางข้าว เฉลี่ยปีละ 650 กิโลกรัม เกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการฟางข้าวและตอซัง เพื่อเป็นทางเลือกในการเพิ่มรายได้และผลผลิตทางการเกษตร
ส่งผลให้เกษตรกรส่วนใหญ่ตัดสินใจเผาฟางข้าวและตอซัง เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการปลูกพืชหมุนเวียนต่าง ๆ จนทำให้ฟางถูกเผาทิ้งอย่างน่าเสียดาย การเผาฟางนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม จนกลายเป็นมลพิษและก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก จึงมีหลายภาคส่วนร่วมกันหานวัตกรรมใหม่ มาช่วยในการย่อยสลาย โดยต้องปลอดภัยทั้งเกษตรกร ปลอดภัยต่อพืช ไม่มีสารตกค้างต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
โดยปกติแล้วฟางข้าวมีปริมาณธาตุอาหารหลักของพืช ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม เฉลี่ย 0.51, 0.14 และ 1.55 เปอร์เซ็นต์ มีปริมาณธาตุอาหารรองของพืช ได้แก่ แคลเซียม แมกนีเซียม และซัลเฟอร์ เฉลี่ย 0.47, 0.25 และ 0.17 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมื่อย่อยสลายเป็นอินทรียวัตถุจะปรับเพิ่มปริมาณธาตุอาหารในดินเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ประหยัดต้นทุนการซื้อปุ๋ย เป็นวงจรการปรับปรุงบำรุงดินที่สำคัญอีกทางหนึ่ง
ข้อมูล/ภาพ : ประชาชาติ