สนค.เผยแนวโน้มดัชนีค่าบริหารขนส่งทางถนน ไตรมาส 4 ปี 2567 คาดปรับตัวสูงขึ้น จากต้นทุน-ราคาน้ำมันกระทบ ขณะที่ ไตรมาส 3 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.4% ทุกหมวดสินค้าและเป็นการปรับตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส
วันที่ 14 ตุลาคม 2567 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566 เป็นการเพิ่มขึ้นของค่าบริการขนส่งในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม อยู่ที่ 2.7%
เช่น ผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ สิ่งทอ อุปกรณ์ไฟฟ้า เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ตามด้วยหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง อยู่ที่ 0.9% เช่น ถ่านหินและลิกไนต์ ปิโตรเลียมดิบและก๊าซธรรมชาติ สินแร่โลหะ และหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง อยู่ที่ 0.8% เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร
พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์
สำหรับสาเหตุสำคัญมาจากราคาน้ำมันดีเซลในประเทศที่ปรับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับอัตราค่าจ้าง และอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวในระดับสูง นอกจากนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งการส่งออก ที่ขยายตัวต่อเนื่อง และการผลิตในภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น ทำให้ความต้องการและปริมาณการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น สำหรับผลกระทบจากอุทกภัยที่ส่งผลต่อการคมนาคมขนส่งในหลายพื้นที่ ยังไม่ส่งผลต่อค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนอย่างชัดเจน ซึ่งจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
ราคาน้ำมัน-ค่าจ้างกระทบดัชนี
ส่วนดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน โครงสร้างแบ่งตามประเภทรถ ไตรมาสที่ 3 ปี 2567 เพิ่มขึ้น 1.0% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566 โดยประเภทรถที่ดัชนีค่าบริการขนส่งเพิ่มขึ้น อาทิ รถตู้บรรทุก อยู่ที่ 2.1% รถบรรทุกเฉพาะกิจ อยู่ที่ 1.9% รถบรรทุกวัสดุอันตราย อยู่ที่ 1.8% รถกระบะบรรทุก อยู่ที่ 1.3% และรถบรรทุกของเหลว 0.7% ขณะที่ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าโดยรถพ่วง ปรับลดลง 0.1% ส่วนดัชนีราคาค่าบริการขนส่งรถกึ่งพ่วงบรรทุกวัสดุยาวไม่เปลี่ยนแปลง
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา ยังคงเป็นเรื่องของต้นทุนที่ยังทรงตัวในระดับสูง ทั้งราคาน้ำมันดีเซล อัตราค่าจ้างที่เกิดจากการขาดแคลนแรงงาน และอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง และการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้ความต้องการและปริมาณการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น
ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องปรับค่าบริการสูงขึ้น เพื่อให้กิจการสามารถดำเนินการต่อได้ แม้ว่าจะเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่ค่อนข้างสูงกับผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ สำหรับผลกระทบจากอุทกภัยที่ทำให้เส้นทางการคมนาคมขนส่งเสียหาย การผลิตบางสาขาและการค้าในพื้นที่หยุดชะงัก ในไตรมาสที่ 3 นี้ ยังไม่ส่งผลต่อดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนอย่างชัดเจน ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
แนวโน้มไตรมาส 4
สำหรับแนวโน้มดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ไตรมาสที่ 4 ปี 2567 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย แม้ว่าผู้ประกอบการได้ทยอยปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนมาบ้างแล้วในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังมีปัจจัยหนุนสำคัญ อาทิ
1) ราคาน้ำมันดีเซล (มีมาตรการตรึงราคาไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ถึง 31 ตุลาคม 2567) อัตราค่าจ้าง และอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่ยังอยู่ระดับสูง
2) ภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นจากการท่องเที่ยว การส่งออกสินค้า และการผลิตในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงช่วงปลายปีเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตรหลายชนิด จะส่งผลให้ความต้องการการขนส่งเพิ่มขึ้น
3) ผลกระทบจากอุทกภัยที่ส่งผลต่อเส้นทางการขนส่งสินค้า อาจจะทำให้ค่าบริการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น
4) ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น จีนประกอบกับประเทศในกลุ่มโอเปกพลัส ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกยังคงลดกำลังการผลิตและชะลอแผนการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน
อย่างไรก็ตาม การแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงของผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งในและประต่างประเทศ และมาตรการการช่วยเหลือด้านพลังงานของภาครัฐ รวมถึงความผันผวนของค่าเงินบาท อาจจะส่งผลให้ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนไม่เป็นไปตามที่คาดได้
นายพูนพงษ์ กล่าวอีกว่า ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยเผชิญกับปัญหาการเข้ามาของนักลงทุนต่างชาติ และกระทบไปถึงการประกอบธุรกิจการขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งปัญหาดังกล่าวสร้างความเสียหายค่อนข้างมากให้กับผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs ที่ไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้
ประกอบกับต้นทุนในการประกอบธุรกิจทรงตัวในระดับสูง ขณะที่เศรษฐกิจของไทยเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป กระทรวงพาณิชย์ได้ตระหนักถึงปัญหานี้เป็นอย่างดี โดยเร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบการสวมสิทธิ์ การถือหุ้น และการจดทะเบียนนิติบุคคลอย่างเข้มงวด การเสริมสร้างองค์ความรู้และทักษะด้านการบริหารจัดการการประกอบธุรกิจโลจิสติกส์ให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน
รวมถึงการจัดทำและพัฒนาแดชบอร์ดธุรกิจโลจิสติกส์บนเว็บไซต์ คิดค้า.com เพื่อเป็นศูนย์กลางระบบฐานข้อมูลด้านธุรกิจโลจิสติกส์ของประเทศที่ครอบคลุมและตรงกับความต้องการของผู้ใช้ ซึ่งคาดว่าจช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากปัญหาดังกล่าวได้
ข้อมูล/ภาพ : ประชาชาติ