“คำถามแรกคือเชื่อเรื่องโลกร้อนและผลกระทบที่รุนแรงหรือเปล่า
ถ้าเชื่อก็มาคุยกันว่าประเทศไทยจะเอายังไงต่อ”
ปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรีและทีมคิดนโยบายสิ่งแวดล้อมของพรรคเพื่อไทย เกริ่นก่อนจะเล่าถึงไอเดีย “โครงการสร้อยไข่มุก” เพื่อป้องกันกรุงเทพฯจากน้ำทะเลยกตัว
เขายกผลการศึกษาและคาดการณ์จากหลายองค์กรสิ่งแวดล้อมที่ระบุว่า “โลกร้อน” จะส่งผลให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นในอีก 50 ปีข้างหน้า บวกกับการเคลื่อนตัวของแกนโลก นั่นจะทำให้น้ำทะเลท่วมสูง 3-5 เมตร กัดกินพื้นที่จากอ่าวไทยลึกเข้าโซนภาคกลางหลายจังหวัดราว 16,000 ตารางกิโลเมตร
“ท่วมไปถึงลพบุรี คนรุ่นผมรอดหมด คนรุ่นคุณและลูกหลานนั่นแหละมีปัญหา”
เปิด 4 ทางเลือก
อดีตรองนายกรัฐมนตรีระบุว่า มี 4 ทางเลือกสำหรับการรับมือปัญหาน้ำทะเลยกตัว
1.ย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพฯไปสู่จังหวัดที่ปลอดภัยจากน้ำท่วม ซึ่งเกิดขึ้นยากและต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย ทั้งการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ และความอ่อนไหวทางสังคม
2.สร้างประตูน้ำทุกคลองที่เชื่อมต่อกับทะเล ตามแนวถนนเพชรเกษมและถนนสุขุมวิท รวมถึงสร้างประตูน้ำขนาดใหญ่ปิดปากแม่น้ำ 4 แห่งคือ ท่าจีน แม่กลอง เจ้าพระยา และบางปะกง คาดว่าใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท ความยากในการดำเนินการคือ ผลกระทบต่อการเดินเรือในพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยาและท่าเรือคลองเตย
“ทางเลือกนี้ก็เสียพื้นที่อยู่ดี เพราะน้ำจะท่วมประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของ 16,000 หมื่นตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 2,000 ตารางกิโลเมตร”
3.สร้างเขื่อนติดทะเล เป็นกำแพงขนาดใหญ่ตลอดแนว ใช้ดินมหาศาล และยังต้องมีประตูน้ำขนาดเล็กและใหญ่มูลค่าไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาทในข้อ 2 รวมอยู่ด้วย
4.สร้างเกาะในอ่าวไทยตอนใน บริเวณรูปตัว ก ลากเส้นตั้งแต่ จ.เพชรบุรีถึง จ.ชลบุรี
ร้อยเรียง 9 เกาะเป็นสร้อยไข่มุก
สิ่งที่ปลอดประสพเห็นว่าต้องผลักดันไม่ใช่แค่โครงการลักษณะเชิงรับ หรือทำเรื่องเฉพาะหน้าผ่านโครงการเขื่อนหรือแนวป้องกันขนาดเล็กเพื่อยื้อปัญหา แต่ต้องกล้าเปิดเกมเชิงรุก เล่นเกมใหญ่ที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่า
การสร้างเกาะในอ่าวไทยตอนในจะมีความยาวรวม 100-150 กิโลเมตร ห่างจากฝั่งประมาณ 5-10 กิโลเมตร จำนวนไม่ต่ำกว่า 9 เกาะ แต่ละเกาะห่างกันประมาณ 3 กิโลเมตร มีถนนและรถไฟเป็นทางเชื่อม มีประตูน้ำอยู่ด้านใต้เป็นลักษณะบานพับ
“คุณได้ประโยชน์แน่ ๆ ในเชิงคมนาคมจากเส้นทางการเชื่อมต่อและในเชิงพลังงานจากการผลิตกระแสไฟฟ้าผ่านพลังงานน้ำและลม” เขาเสียงเข้ม
“ราคาเท่าไหร่ตอบไม่ได้ บอกได้แค่เป็นสิ่งก่อสร้างที่แพงที่สุดตั้งแต่ประเทศไทยเคยเจอมา และใช้เวลายาวนานมาก ไม่ต่ำกว่า 10 ปี นั่นคือทำพร้อมกันทุกเกาะ ในส่วนรายละเอียดอาจจะเปิดประมูลและแบ่งสัญญา 9 เกาะ 9 บริษัท”
รูปแบบและวัสดุการก่อสร้างแต่ละเกาะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การใช้งานว่าจะใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจด้านใด เช่น
เกาะแรกบริเวณบางขุนเขียน อาจกำหนดให้เป็นเมืองกรีนหรือพื้นที่สีเขียว-สมาร์ทซิตี้ เกาะที่สองเป็นท่าเรือ เกาะที่สามเป็นเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เกาะที่สี่เป็นที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติมีอายุสัมปทาน 99 ปี เกาะที่ห้าเป็นสนามบิน เป็นต้น
“ผมเสนอไอเดียเป็นตัวอย่างนะ คิดจากปัญหาที่เรามีและออกแบบโครงการเพื่อแก้ไข” อดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบอกและว่า การมีเกาะและประตูน้ำขนาดใหญ่ ยังทำให้ไทยสามารถควบคุมสภาพน้ำหลังแนวกำแพงได้ว่าอยากได้น้ำจืด น้ำเค็ม หรือน้ำกร่อย ตามช่วงเวลาที่เหมาะสม
อย่าค้านไร้สาระ
ทุกการพัฒนานั้นมีเสียงเห็นด้วยและเห็นต่าง โดยโครงการนี้มีการนำเสนอในช่วงการหาเสียงของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเริ่มมีการกลับมาพูดถึงหลังการแสดงวิสัยทัศน์ของอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร เวที Vision for Thailand 2024
“บางคนค้านแบบประสาทแดก เอ็นจีโอพยายามยุให้คนค้านโครงการไม่ว่าอะไรทั้งสิ้น คุณบ้า สมุทรสาครเป็นจังหวัดแรกที่จะจมน้ำ เพราะฉะนั้นชาวสมุทรสาครอย่าไปเชื่อครับ ทำไมเรามองแถวบางขุนเทียน เพราะมันเคยมีแผ่นดิน ทะเลไปกินมัน จะผิดอะไรที่เราจะเอามรดกคืนมา”
เขาบอกว่า ปัญหาโลกร้อนไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ ทุกคนต้องตระหนัก ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย มัวแต่ค้านด้วยความกลัว ไม่คิดในเชิงรุก อนาคตทุกบ้านอาจจะต้องมีเขื่อนเป็นของตัวเอง
“ใครไม่เชื่อก็อย่าเชื่อ แต่ไม่เชื่อแล้วคุณต้องบอกด้วยว่าจะทำยังไงต่อ ไม่ทำอะไรไม่ได้ เรากำลังพูดถึงพื้นที่ขนาด 10,000,000 ไร่ของภาคกลางตอนล่างที่กำลังจะจมน้ำ ชายหาดจะไปอยู่ลพบุรี อนาคตคนตายอาจจะต้องเผากันบนเรือ”
“ถ้าไม่ทำ ผมขอแนะนำให้พวกสายมู (มูเตลู) ไหว้พระ อธิษฐานขอให้คนไทยเริ่มมีเหงือกขนาดใหญ่ จะได้ไม่ต้องกลัวน้ำท่วม”
ปลอดประสพกล่าวอย่างมั่นใจถึงความเป็นไปได้ของโครงการในเชิงเทคโนโลยี โดยยกตัวอย่างการสร้างเกาะเทียมและระบบจัดการน้ำในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สิงคโปร์ จีน ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์ ส่วนเรื่องงบประมาณยังไม่สามารถประเมินหรือเคาะเป็นตัวเลขที่แน่ชัดได้ ต้องมีการศึกษาจากข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน แต่มหาศาลแน่นอน โดยมีวิธีการลงทุนหลากหลายรูปแบบ
“เทคโนโลยีและประสบการณ์มีให้เห็นแล้วทั่วโลก อยู่ที่ว่าเราจะทำหรือเปล่า” เขาแนะนำเริ่มนับ 1 ตั้งแต่วันนี้
ข้อมูล/ภาพ : ประชาชาติ