“คมนาคม” ถกกระทรวงคมนาคมญี่ปุ่น ลุยพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ-ท่าเรือแหลมฉบัง ลดต้นทุนโลจิสติกส์ สร้างท่าเรือหวังเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ
นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานกรรมการการท่าเรือฯ เปิดเผยว่า กระทรวงและกทท. ได้เข้าร่วมประชุม ณ กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยว (Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism: MLIT) ประเทศญี่ปุ่น
นายชยธรรม์ กล่าวว่า MLIT มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายและขับเคลื่อนการพัฒนาท่าเรือของประเทศญี่ปุ่น
ทั้งนี้มีเป้าหมายหลักเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการขนส่งทางทะเล สร้างความเชื่อมโยงทางการค้ากับนานาชาติ
ขณะเดียวกันได้มีนโยบายเพื่อก้าวเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์สำคัญของภูมิภาคเอเซีย ที่สามารถรองรับการขนส่งสินค้าที่มีปริมาณมากและหลากหลายชนิด พร้อมเชื่อมโยงท่าเรือกับระบบขนส่งอื่นๆ เช่น รถไฟ รถบรรทุก และการขนส่งทางอากาศ
นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมให้มีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยภายในท่าเรือโดยการเชื่อมโยงข้อมูลแบบไร้รอยต่อ (Seamless Operation) ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และประเทศในอาเซียนซึ่งถือเป็นคู่ค้าที่สำคัญของประเทศ
นายชยธรรม์ กล่าวต่อว่า ภายหลังการหารือร่วมกับ MLIT นั้นพบว่ามีนโยบายที่สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงคมนาคม ที่ต้องการขับเคลื่อนนโยบายคมนาคมเพื่อโอกาสของประเทศไทย มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมเพื่อสนับสนุนระบบโลจิสติกส์ ลดต้นทุนด้านการขนส่ง สร้างโอกาส เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ MLIT จะเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาท่าเรือให้ทันสมัยแล้วยังส่งเสริมในการพัฒนาท่าเรือควบคู่กับเมือง
สำหรับการนำแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนมาประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม รวมถึงการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้เชื่อมต่อกับพื้นที่ริมน้ำ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง ตลอดจนการพัฒนาท่าเรือที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของท่าเทียบเรือตู้สินค้า
ขณะเดียวกันยังส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก และใช้พลังงานหมุนเวียนต่างๆ ตลอดจนการติดตั้งระบบจ่ายไฟฟ้าจากฝั่ง (Shore Power Supply) เพื่อลดมลพิษทางอากาศและเสียงรบกวนจากเรือที่จอดเทียบท่า
“การเข้าพบปะหารือกับ MLIT วันนี้ นับว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของการท่าเรือฯ ที่จะนำนโยบายต่างๆ ข้างต้น มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินการของท่าเรือกรุงเทพต่อไป” นายชยธรรม์ กล่าว
นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือฯ กล่าวว่า สำหรับการเข้าเยี่ยมชมแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์กับ MLIT ในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโครงการต่างๆ ที่สำคัญของการท่าเรือฯ อาทิ การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3
ข้อมูล/ภาพ : ฐานเศรษฐกิจ