ค่าเงินบาทหากแข็งค่าหลุดโซนแนวรับสำคัญ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยปิดสถานะ Short THB เพิ่มเติม มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.00-34.30 บาท/ดอลลาร์
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 21ม.ค. 2568 ที่ระดับ 34.10 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ที่ระดับ 34.26 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าแนวโน้มของค่าเงินบาท การทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินบาทจนหลุดโซนแนวรับ 34.30 บาทต่อดอลลาร์ ตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันก่อนหน้า
ทำให้เราต้องกลับมามองใหม่ว่า เงินบาทมีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หรืออย่างน้อยก็อาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways เมื่อประเมินตามกลยุทธ์ Trend Following อีกทั้งในเชิงเทคนิคัล สัญญาณจาก RSI, MACD และ Stochastic ใน Time Frame รายวันของเงินบาท (USDTHB)
สะท้อนว่า เงินบาทมีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้นได้ โดยต้องจับตาว่า เงินบาทจะสามารถแข็งค่าหลุดโซนแนวรับสำคัญ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้หรือไม่ เพราะการแข็งค่าหลุดโซนดังกล่าว อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยปิดสถานะ Short THB เพิ่มเติม
อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดได้ทยอยปรับลดสถานะ Short THB มาพอสมควร หลังเงินบาทแข็งค่าหลุดโซนแนวรับ 34.50 จนถึง โซน 34.30 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้การปรับสถานะดังกล่าว อาจไม่ได้เร่งให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็วและแรงในระยะสั้น
ทั้งนี้ เรามองว่า เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมได้บ้าง หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็รอทยอยซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์
นอกจากนี้ ความกังวลต่อนโยบายพลังงานของรัฐบาล Trump 2.0 ที่กดดันราคาน้ำมันดิบ ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อน้ำมันดิบ (Buy on Dip) ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันเงินบาทได้
อย่างไรก็ดี เรามองว่า ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ และฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติด้วยเช่นกัน เพราะหากราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้บ้าง ส่วนนักลงทุนต่างชาติก็ทยอยกลับเข้ามาซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทย ก็อาจช่วยหนุนเงินบาทให้ทยอยแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้
อนึ่ง ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งยุโรป ทั้ง ข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ และดัชนี ZEW ของเยอรมนีและยูโรโซน ซึ่งอาจกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของ BOE และ ECB ทำให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) และเงินยูโร (EUR) เคลื่อนไหวผันผวนในช่วงดังกล่าวได้
ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
ข้อมูล/ภาพ : ฐานเศรษฐกิจ, ประชาชาติธุรกิจ