วงการบันเทิงไทยกำลังถูกขับเคลื่อนด้วยกระแส ซีรีส์ GL (Girls’ Love) หรือยูริ ซึ่งเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงปี 2567 โดยผลงานจากไทยสามารถทะยานติดอันดับ Top 10 กระแสออนไลน์ยอดฮิต สะท้อนถึงการยอมรับที่เพิ่มขึ้นในสังคมและเวทีโลก ผู้เชี่ยวชาญอย่าง ดร.เกียรติญา สายสนั่น จากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่ากระแสดังกล่าวมีแนวโน้มสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 2,000 ล้านบาท พร้อมหนุน Soft Power ไทยให้แข็งแกร่ง ขณะที่ผู้กำกับมือทองอย่าง ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ และนักเขียนชื่อดัง นรมน กัลยาณมิตร เห็นตรงกันว่า ไทยได้ปักหมุดเป็นผู้นำการผลิตซีรีส์ยูริในเอเชียเรียบร้อยแล้ว
กระแส ‘ยูริ’ หรือเนื้อหาความรักระหว่างผู้หญิงกับผู้หญิง กำลังกลายเป็นพลังขับเคลื่อนใหม่ของอุตสาหกรรมบันเทิงไทยอย่างเห็นได้ชัด เมื่อ ซีรีส์ GL ทยานขึ้นสู่ความนิยมระดับสูงในช่วงกลางปี 2567 พร้อมกับการเปลี่ยนจากตลาดเฉพาะกลุ่ม (niche market) ไปสู่ตลาดกระแสหลัก
ดร.เกียรติญา สายสนั่น อาจารย์จากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า ความสำเร็จของซีรีส์อย่าง Club Friday The Series: Love Bully รักให้ร้าย และ ใจซ่อนรัก ไม่ได้เพียงสร้างความบันเทิง แต่ยังช่วยขยายความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยอย่างแยบยล นอกจากนี้ เธอยังคาดการณ์ว่าภายใน 3 ปีข้างหน้า ความนิยมในซีรีส์ GL จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามแนวโน้มการยอมรับเนื้อหาหลากหลายทางเพศที่สูงขึ้นทั่วโลก
จากข้อมูลเชิงเศรษฐกิจ ดร.เกียรติญา ระบุว่าคอนเทนต์ GL ไทยมีศักยภาพในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 2,000 ล้านบาท พร้อมผลักดัน Soft Power ไทยผ่านการแทรกวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น สินค้าพื้นเมือง อาหารไทย และแหล่งท่องเที่ยวลงในเนื้อหา ส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศที่เปิดกว้างและยอมรับความหลากหลายอย่างมีนัยสำคัญ
ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับซีรีส์และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกล เสริมว่า ไทยขณะนี้ได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมซีรีส์ GL ของเอเชีย แม้จะมีคู่แข่งอย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นที่มีประสบการณ์การผลิตคอนเทนต์ระดับโลกมายาวนาน แต่ไทยกลับโดดเด่นด้วยเนื้อหาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและการสร้างสรรค์เรื่องราวที่เข้าถึงอารมณ์ผู้ชมได้ลึกซึ้ง
อย่างไรก็ตาม ธัญญ์วาริน ได้เตือนว่าการรักษาความเป็นผู้นำนี้จำเป็นต้องมีการยกระดับมาตรฐานการผลิต เน้นพัฒนาบทที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญที่สุดคือการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐ เพื่อเสริมศักยภาพของคอนเทนต์ GL เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน
อีกหนึ่งมุมมองที่น่าสนใจจาก นรมน กัลยาณมิตร หรือ Ma-Bung นักเขียนนิยาย GL ชื่อดัง เปิดเผยว่า ความสำเร็จของซีรีส์ GL หลายเรื่องมีรากฐานจากนิยายขายดีที่มีฐานแฟนคลับเหนียวแน่น ทำให้การดัดแปลงเป็นซีรีส์มีโอกาสประสบความสำเร็จสูง พร้อมยืนยันว่ากระแส GL ไม่ใช่เพียงกระแสชั่วคราว หากแต่เป็นการเติบโตอย่างมั่นคง โดยย้อนรอยตั้งแต่ยุคของภาพยนตร์ Yes or No และซีรีส์ ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น ที่เริ่มวางรากฐานความเข้าใจเรื่องความรักที่หลากหลายให้กับสังคมไทยอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ปรากฏการณ์ ‘คลื่นยูริ’ จากไทยในเวลานี้ จึงไม่ใช่แค่กระแสแฟชั่นระยะสั้น แต่กำลังกลายเป็นพลังทางวัฒนธรรมที่มีศักยภาพยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นหนึ่งในศูนย์กลางอุตสาหกรรมบันเทิงโลกอย่างแท้จริง
ข้อมูล : thestandard
ภาพ : แนวหน้า