เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.2 ริกเตอร์ ที่เมืองสะกาย ประเทศเมียนมา ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับแรงสั่นสะเทือนรุนแรง โดยเฉพาะพื้นที่ กรุงเทพฯ และ เชียงใหม่ ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจเบื้องต้นที่มูลค่า ไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เกิดจากการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการลดลงของกำลังซื้อของประชาชน นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มกระทบต่ออุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์ การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย และตลาด การท่องเที่ยว ซึ่งอาจส่งผลให้จีดีพีลดลง -0.06% ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ 2.4%
เศรษฐกิจหยุดชะงัก กำลังซื้อลดลง
ผลกระทบจากแผ่นดินไหวทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในกรุงเทพฯ และหัวเมืองหลัก เช่น เชียงใหม่ ต้องหยุดชะงัก ร้านอาหาร ค้าปลีก การขนส่ง งานอีเวนต์ ต่าง ๆ ได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกัน กำลังซื้อของภาคธุรกิจและครัวเรือนลดลง เนื่องจากต้องนำเงินไปใช้ตรวจสอบความเสียหายและซ่อมแซมอาคารที่ได้รับผลกระทบ การซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานอาจเพิ่มมูลค่าความเสียหายมากขึ้นอีก
อสังหาริมทรัพย์และภาคการเงินได้รับแรงกดดัน
แม้การฟื้นฟูและซ่อมแซมอาคารจะเป็นปัจจัยบวกต่อ วัสดุก่อสร้าง และที่พักแนวราบ แต่ตลาด คอนโดมิเนียม ในกรุงเทพฯ อาจได้รับผลกระทบจากยอดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ชะลอตัว ประกอบกับความต้องการเช่าอาจเพิ่มขึ้นแทนการซื้อ ที่ผ่านมา ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) พบว่ามีอาคารชุดสะสมรอขายในกรุงเทพฯ มากกว่า 65,000 หน่วย มูลค่ารวม 375,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน คุณภาพหนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ มีแนวโน้มแย่ลง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ของภาคอสังหาฯ และที่อยู่อาศัย อาจแตะระดับ 2.65-2.85% จากประมาณการเดิมที่ 2.7%
นักท่องเที่ยวต่างชาติอาจลดลง
ตลาดการท่องเที่ยวเป็นอีกหนึ่งภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อาจมีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาคารที่พัก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยอาจต้องทบทวน ประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 2568 จากเดิมที่ 37.5 ล้านคน เนื่องจากตลาดนักท่องเที่ยวหลัก เช่น จีน มาเลเซีย และเกาหลีใต้ เริ่มลดลงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนจากภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่อาจถูกปรับขึ้นในเดือนเมษายนนี้ อาจสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจเพิ่มเติม
กนง. อาจปรับลดดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด
ด้วยแรงกดดันด้านเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจต้องพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่ากำหนด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ากนง. อาจปรับลดดอกเบี้ยเร็วขึ้นในเดือนเมษายนนี้ และอาจลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 1 ครั้งในช่วงที่เหลือของปี 2568
ผลกระทบต่อภาคธุรกิจประกันและธนาคาร
ภาค ธุรกิจประกันภัย อาจต้องเผชิญกับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจำนวนมาก แม้ว่าบริษัทประกันไทยส่วนใหญ่จะมี Reinsurance กับบริษัทต่างประเทศและมีอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (RBC) สูงกว่ามาตรฐาน อย่างไรก็ตาม ความถี่ของภัยธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้บริษัทประกันต้องปรับนโยบายบริหารความเสี่ยง
ด้าน ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ มาตรการช่วยเหลือทางการเงินอาจช่วยบรรเทาผลกระทบในระยะสั้น แต่แนวโน้มการเติบโตของสินเชื่ออาจถูกกดดันต่อไปจากอำนาจซื้อที่ลดลง โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง และสินเชื่อที่อยู่อาศัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงคาดการณ์การเติบโตของสินเชื่อปี 2568 อยู่ที่เพียง 0.6%
ข้อมูล : prachachat