“Data Center” ทาง 2 แพร่งที่ไทยต้องเลือก ระหว่าง พัฒนาเศรษฐกิจ หรือ รักษ์สิ่งแวดล้อม

หนึ่งนโยบายที่ได้รับความสนใจจากหลายภาคส่วนตามถ้อยแถลงของรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คือ Digital Economy หรือ เศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ถูกขับเคลื่อนผ่านรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ

หมุดหมายสำคัญคือ การจัดตั้ง Data Center ในประเทศไทย พร้อมผลักดันให้ไทยก้าวสู่ศูนย์กลางระดับภูมิภาค โดยที่ผ่านมามีบริษัทยักษ์ใหญ่หลายรายให้ความสนใจลงทุนประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น Microsoft Google และ Amazon Web Services (AWS) สร้างเม็ดเงินไหลเข้าประเทศหลายแสนล้านบาท

โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ได้วิเคราะห์แนวโน้มการเติบโตของตลาด Data Center และผู้ให้บริการคลาวด์ คาดว่า ในระดับโลก มูลค่าตลาดการให้บริการ Data Center มีแนวโน้มขยายตัวราว 22% ภายในปี 2567 และคาดว่าจะเติบโตขึ้นอีก 20% ในปี 2568

ขณะที่ในประเทศไทย คาดว่า มูลค่าตลาดการให้บริการ Data Center มีแนวโน้มขยายตัวราว 26% ภายในปี 2567 และคาดว่าจะเติบโตขึ้นอีก 24% ในปี 2568

แต่กว่าประเทศไทยจะก้าวไปถึงจุดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะยังมีหลายอุปสรรคที่ต้องเผชิญ

สมชัย สิทธิชัยศรีชาติ กรรมการบริษัท เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) อธิบายให้เห็นภาพของ Data Center ว่า คือพื้นที่กว้าง ๆ บนที่ราบหรือบนอาคารใหญ่ ที่เต็มไปด้วยเซิร์ฟเวอร์ประมวลผลจำนวนมาก ที่ผ่านมามีทั้งการติดตั้งบนอาคารใหญ่ และการติดตั้งในน้ำ เพื่อใช้น้ำทะเลมาช่วยระบายความร้อน

ลักษณะของการให้บริการ Data Center เป็นการเชื่อมสายสัญญาณเครือข่ายทั่วโลก โดยมีสถานีต่าง ๆ เป็นจุดพักสาย ระหว่างการเดินทางของสัญญาณเครือข่ายในแต่ละสถานี จะเกิดความหน่วงของสัญญาณ ทำให้เสียเวลาในการเดินทางจากสถานีหนึ่งไปอีกสถานีหนึ่ง จึงไม่สามารถสร้าง Data Center แห่งเดียวเพื่อรองรับการใช้งานทั่วโลกได้ ดังนั้น “การขยายฐานบริการทั่วโลก” จึงเป็นภารกิจสำคัญของผู้ให้บริการ

โอกาสของไทยสู่ศูนย์กลาง Data Center

สมชัย กล่าวว่า หากผู้ให้บริการรายใหญ่ระดับโลกร่วมลงทุนติดตั้ง สร้างไทยให้เป็นศูนย์กลาง Data Center ระดับภูมิภาค อานิสงส์ที่ไทยจะได้รับมีอยู่ 3 ประการ คือ

  1. ช่วยลดต้นทุนการใช้บริการของภาครัฐและเอกชน เนื่องจากสามารถเช่าใช้บริการได้ ไม่ต้องทุ่มงบประมาณลงทุนเอง
  2. สามารถดึงข้อมูลจากคลาวด์ของผู้ให้บริการไปใช้สร้างโมเดล AI หรือบริการอื่น ๆ ได้โดยตรง ไม่ต้องเสียเวลาฝึกฝน พร้อมเปิดโอกาสให้ SME เช่าใช้บริการระดับโลกในราคาที่จับต้องได้ จะยกเลิกเมื่อไรก็ได้
  3. มีความเสถียรในการให้บริการ ที่สามารถรองรับผู้ใช้บริการได้มากกว่าพันล้านหรือหมื่นล้านคนได้โดยไม่ติดขัด

ขณะที่ ปริญญา หอมเอนก ประธานกรรมการบริหารบริษัท เอซิส โปรเฟสชั่นนัล เซ็นเตอร์ จำกัด (ACIS) มองเห็นโอกาสในการผลักดันประเทศไทย สู่การเป็นศูนย์กลางของ Data Center ในระดับภูมิภาค ซึ่งถ้าเป็นไปได้จริง จะเกิดประโยชน์กับประเทศไทย 3 ด้าน ทั้งเรื่องความปลอดภัย ความเร็ว และการเกิด Ecosystem เอื้อประโยชน์คนในประเทศไทย

  1. ความปลอดภัย โดยเฉพาะหากรัฐบังคับใช้นโยบายการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลภายในประเทศ (Data Localization) ไทยยิ่งได้เปรียบ เพราะจะทำให้ข้อมูลทั้งหมดที่มีใน Data Center ถูกจำกัดการใช้งานภายในประเทศ
  2. ความเร็วและประสิทธิภาพการใช้งาน ผู้ใช้บริการในไทยสามารถใช้งานผ่านการเชื่อมต่อระบบเครือข่ายเข้ากับ Data Center โดยตรง ไม่ต้องผ่านการใช้งาน Data Center ในพื้นที่ประเทศอื่น ซึ่งจะส่งผลให้มีอัตราการส่งถ่ายข้อมูล (Bandwidth) ต่ำ ใช้งานได้ช้ากว่าการเชื่อมต่อกับ Data Center ภายในประเทศ
  3. การเกิด Ecosystem ที่เอื้อประโยชน์ให้กับคนไทย หากสามารถจ้างคนให้เข้าไปทำงานภายใน Data Center รวมถึงใช้โครงสร้างพื้นฐานจากประเทศไทยในการจัดตั้ง จะถือเป็นเรื่องดี

ปริญญา เสริมว่า รัฐบาลควรส่งผู้เชี่ยวชาญไปตกลงกับผู้ที่จะเข้ามาลงทุน หากตกลงกันแล้วไม่มีข้อกำหนดเยอะจนเกินไป รายละเอียดนโยบายชัดเจน เกิด Ecosystem ที่เอื้อประโยชน์ให้กับคนไทย โอกาสที่ไทยได้เป็นศูนย์กลางของ Data Center ระดับภูมิภาคจะไปได้สวย

อะไรคือ “อุปสรรค” ที่ไทยต้องเผชิญ ?

แม้จะเป็นโอกาสครั้งสำคัญของไทย แต่ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญยังมองเห็นอุปสรรคหลายประเด็นที่อาจทำให้การเดินหน้าไปสู่ความเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคของ Data Center ยังคงถูกตั้งคำถาม โดยเฉพาะแผนพัฒนาเพื่อรองรับการลงทุนที่ยังตามหลังชาติอื่น ๆ ในอาเซียน รวมถึงความชัดเจนของนโยบายที่ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม

สมชัย สิทธิชัยศรีชาติ กรรมการบริษัท เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มองว่า เวลานี้ ยังไม่เห็นภาพที่ไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางของ Data Center ระดับภูมิภาค พร้อมระบุอุปสรรคอย่างน้อย 4 ด้านที่ไทยต้องเผชิญ

ไม่วาจะเป็นอุปสรรคเกี่ยวกับ “เวลา” เพราะหลายประเทศในอาเซียนไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ต่างเคลื่อนไหวล้ำหน้าไปแล้ว หากรัฐบาลต้องผลักดันให้สำเร็จ อาจต้องเร่งดำเนินการ คู่ขนานกับการหาวิธีจูงใจให้บริษัทยักษ์ใหญ่สนใจลงทุนในไทยก่อนชาติอื่น

อุปสรรคเกี่ยวกับ “คน” เพราะเรื่องของทรัพยากรมนุษย์ ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ยังเป็นอุปสรรคที่หลายประเทศทั่วโลกต้องเผชิญ

อุปสรรคเกี่ยวกับ “ภาษา” โดยเฉพาะความต้องการผลักดันให้คนไทยใช้ Data Center โดยเฉพาะเหล่าบริษัทยักษ์ที่เตรียมปักหมุดลงทุนในประเทศไทย ต่างก็ลงทุน Data Center ประเภทคลาวด์ ที่อาศัย AI ในการทำงาน ซึ่งไทยยังถือว่าเสียเปรียบชาติอื่น เนื่องจาก AI หลายโมเดลแทบไม่มีการเก็บชุดข้อมูลที่เป็นภาษาไทยมาฝึกฝน เช่น เอกสาร หรือรายงานวิจัยต่าง ๆ

และอุปสรรคเกี่ยวกับ “พลังงาน” ที่นอกจากจะต้องมองในมุมของราคาและปริมาณแล้ว อาจต้องพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย เนื่องจาก Data Center จำเป็นต้องใช้ซีพียูตัวใหญ่หลายตัว และใช้ไฟจากหม้อแปลงปริมาณมาก ผลที่ตามมาคือการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล และยังส่งผลให้เกิดความร้อนสูงมาก ประกอบกับอุปกรณ์ภายใน Data Center เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หากเกิดความร้อนสูงจะทำให้อายุการใช้งานสั้นลง จึงมีการติดตั้งแอร์จำนวนมากเพื่อทำให้ Data Center มีความเย็นอยู่ตลอดเวลา

ซึ่งการกินพลังงานไฟฟ้า ความร้อนที่เพิ่มขึ้นจากการทำงานของเซิร์ฟเวอร์ และการหล่อเย็นตลอดเวลา ทำให้ Data Center เป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วน ต้องมองให้ไกลกว่ามิติทางเศรษฐกิจ มองทะลุไปถึงมิติทางสิ่งแวดล้อมด้วย

มิติทาง “สิ่งแวดล้อม” ผลกระทบชิ้นใหญ่ที่ไม่ควรมองข้าม

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา Google เผยถึงปัญหาของ Data Center และการพัฒนา AI ผ่านรายงานสิ่งแวดล้อมประจำปี 2567 ที่ระบุว่า การอาศัย Data Center พัฒนา AI ในช่วงปี 2563 – 2566 ส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นกว่า 48% เมื่อเทียบกับปี 2562

ข้อมูลจาก Google ยังระบุด้วยว่า จากการจัดตั้ง Data Center 44 แห่งทั่วโลก ปัจจุบันมีเพียง 10 แห่งเท่านั้นที่สามารถนำพลังงานสะอาดมาใช้ขับเคลื่อน Data Center ได้เกิน 90% และมีเพียงแห่งเดียวที่ใช้พลังงานสะอาดแบบ 100% คือ ที่รัฐควิเบก ประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นการนำพลังงานไฮโดรเจน ที่เกิดจากพลังงานน้ำ รวมกับพลังงานอื่น ๆ มาใช้

Data Center ของ Google ยังมีกว่า 25 แห่งทั่วโลก ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก และใช้พลังงานสะอาดไม่ถึง 60%

ซึ่งก๊าซเรือนกระจกที่มี “ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” เป็นส่วนประกอบหลักกว่า 75% ส่วนใหญ่มาจากการทำงานของ Data Center ที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ประมวลผลจำนวนมาก บวกกับการพัฒนา AI ทำให้ระบบประมวลผลทำงานหนักขึ้น เกิดการปล่อยความร้อนสูงออกมาอย่างต่อเนื่อง เป็นที่มาของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกดังกล่าว

ดังนั้น หากไทยจะยกระดับสู่การเป็นศูนย์กลาง Data Center จำเป็นที่จะต้องมีแผนอย่างรัดกุมในการรับมือกับผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น

ดร.ครรชิต รองไชย ผู้ก่อตั้ง AI and Sustainability Laboratory และผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น มองว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่า Data Center กับการเข้ามาของ AI เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจาก Data Center ต้องใช้ไฟฟ้าในปริมาณมหาศาล ยิ่งถูกนำมาใช้พัฒนา AI ด้วยแล้ว ย่อมส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานเพื่อรองรับเทคโนโลยีดังกล่าวมีสูงขึ้นตามไปด้วย และอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหลายด้าน หากรัฐไม่มีการควบคุมหรือแผนงานที่ชัดเจน

ถึงแม้ว่ารัฐจะมีทางเลือกเกี่ยวกับพลังงานทดแทน แต่ในความเป็นจริงแล้ว พลังงานทดแทนนั้นมีอยู่อย่างจำกัดเฉพาะช่วงเวลา อาจไม่ตอบโจทย์การทำงานของ Data Center ที่ต้องการความเสถียร ที่ต้องใช้พลังงานหล่อเลี้ยงตลอด 24 ชั่วโมง และหากเราไม่มีทางเลือกในการใช้พลังงานทดแทน การใช้ไฟฟ้าที่เกิดจากกระบวนการการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงอาจเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และแน่นอนว่า การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงย่อมส่งผลให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดภาวะเรือนกระจก ต้นเหตุของภาวะโลกร้อน

ยังไม่นับรวมกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรน้ำ เพราะการทำงานของ Data Center ต้องปลดปล่อยความร้อนออกมาในปริมาณมาก จำเป็นต้องใช้น้ำเข้ามาช่วยในการหล่อเย็น และน้ำที่ผ่านกระบวนการหล่อเย็น จะกลายเป็นน้ำอุ่นหรือน้ำร้อน หากถูกนำไปทิ้งในแหล่งน้ำธรรมชาติโดยตรง ย่อมส่งผลกระทบถึงคุณภาพน้ำ สุ่มเสี่ยงที่จะทำลายระบบนิเวศบริเวณนั้นได้

ทางเลือกของรัฐ หากเดินหน้าจัดตั้ง Data Canter

แม้ผลกระทบที่เกิดจากการจัดตั้ง Data Center จะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่รัฐบาลสามารถชดเชยผ่านนโยบายที่ช่วยลดปัญหาจากผลกระทบเหล่านี้ได้ โดย ดร.ครรชิต ระบุว่า ต้องย้อนดูและแก้ไขตรงที่มาของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจาก Data Center เป็นหลัก นั่นคือ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงเพื่อแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้ามาหล่อเลี้ยงการทำงาน

“ดร.ครรชิต” เสนอว่า รัฐบาลอาจหาพลังงานทดแทนเข้ามาใช้ใน Data Center บ้าง เช่น อาศัยพลังงานแสงอาทิตย์จาก Solar Cell ซึ่งต้องมาดูว่าแต่ละพื้นที่จะใช้ Solar Cell จำนวนเท่าไร ให้พลังงานเท่าไร คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ทั้งหมด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดทั้งในการทำงานของ Data Center และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือรัฐอาจลงทุนเพื่อหาพลังงานทดแทนอื่น ๆ เช่น แหล่งพลังงานไฟฟ้า หรือพลังงานไฮโดรเจน ที่ไม่ได้ส่งผลต่อการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้ ก็จะสามารถทดแทนกันได้

หรือรัฐอาจมองหาแนวทางลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในรูปแบบอื่น ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการวิจัยเพื่อนำพลังงานชีวมวล ซึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียนมาใช้ ตัวอย่างเช่น เราจะเปลี่ยนเปลือกข้าวเป็นพลังงานทดแทน หรือแปรรูปของเสียทางด้านเกษตรกรรมให้มาเป็นพลังงานทดแทนได้หรือไม่ อย่างไร ซึ่งส่วนใหญ่ประเทศไทยยังไม่มีการวิจัยทางด้านนี้

หรือจะเป็นลงการทุนวิจัยในเรื่องของการทำนาวิธีใหม่อย่างไร ให้ลดการปลดปล่อยก๊าซมีเทน ที่เกิดจากซากข้าวที่หมักหมมอยู่ในท้องนา ส่งผลต่อการเกิดภาวะโลกร้อนรุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งหากทำได้สำเร็จ นอกจากจะลดผลกระทบต่อการเกิดภาวะโลกร้อนแล้ว ยังช่วยให้สภาพภูมิอากาศดีขึ้นด้วย

หากรัฐบาลมีแผนการใช้พลังงานทดแทนอย่างละเอียดและมีความชัดเจน ก็จะเป็นการช่วยลดการเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างตรงจุด

ขณะที่ ดร.เพชร มโนปวิตร เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว และนายกสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย มองมุมเดียวกันว่า ต้องลดผลกระทบที่เกิดขึ้นผ่านการชดเชย เพื่อรองรับผลกระทบเหล่านั้นที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ซึ่ง ดร.เพชร มองว่าสิ่งที่สามารถส่งผลได้โดยตรงและชัดเจนที่สุดคือ “กฎหมาย” หากมองในมุมของกฎหมายทั่วโลก จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่มีกฎหมายรองรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว

ตัวอย่างเช่น อังกฤษ ที่ทุกธุรกิจหรือทุกโครงการต้องเพิ่มผลกระทบเชิงบวกต่อธรรมชาติด้วย หรือความหลากหลายทางชีววิทยาในพื้นที่นั้นต้องเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10% ก่อนการพัฒนาพื้นที่ทำธุรกิจหรือโครงการต่าง ๆ ออสเตรเลีย ที่คนทำงานอนุรักษ์พื้นที่สามารถนำเครดิตหรือ Certificate ที่ทำงานอนุรักษ์มาเป็นค่าตอบแทนในเชิงเศรษฐกิจได้ ซึ่งใช้เวลาผลักดันเพียง 10 เดือนเท่านั้น และสหภาพยุโรปที่มีข้อกำหนดละเอียดมาก เช่น การฟื้นฟูพื้นที่ระบบนิเวศทางบกและทะเลของสหภาพยุโรปต้องทำให้ได้อย่างน้อย 20% ภายในปี 2573 หรือการทำให้แม่น้ำในระยะ 20,000 กม. ไหลอย่างอิสระ

ดร.เพชร มองว่า ประเทศไทยโชคดีที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก ทว่ากฎหมายกลับดูล้าหลังหากเทียบกับ 3 ฉบับก่อนหน้านี้ โดยแนะนำว่ารัฐต้องยึดหลักการพื้นฐานอย่าง “Polluter Pay Principle” หรือผู้ที่สร้างผลกระทบจะต้องเป็นผู้จ่าย และเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยเป็นไปได้แน่นอน เนื่องจากกฏหมายบางตัว แม้จะเป็นของต่างประเทศ แต่ก็ใช้เวลาในการผลักดันไม่นาน

ท้ายที่สุดแล้ว ประเทศไทยเดินทางมาถึงจุดที่ต้องตัดสินใจอย่างจริงจัง หากรัฐต้องการการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ผ่านการลงทุนจัดตั้ง Data Center เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนหลายแสนล้านบาท จำเป็นที่จะต้องหาทางออกด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป

หรือหากตัดสินใจเดินหน้าอย่างเพิกเฉย บทสุดท้ายของการส่งเสริมเศรษฐกิจครั้งนี้ คือการที่ต้องเผชิญกับปัญหาใหม่ นั่นคือผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ข้อมูล/ภาพ : PPTV

author avatar
CatchUp
  • Related Posts

    “ดีเอสไอ” อนุมัติให้ทำการสืบสวน “คดีแตงโม” ตกเรือแล้ว

    อ.ปานเทพ เผย “ดีเอสไอ&#8…

    หนุ่มขับชนไรเดอร์ได้ประกัน เมียรับศพ แกะมือที่กำแน่น บอกไม่ต้องแค้นเขาแล้ว

    หนุ่มขับชนไรเดอร์ ได้ประกันตัว…

    You Missed

    “ดีเอสไอ” อนุมัติให้ทำการสืบสวน “คดีแตงโม” ตกเรือแล้ว

    • มกราคม 22, 2025
    • 1 views
    “ดีเอสไอ” อนุมัติให้ทำการสืบสวน “คดีแตงโม” ตกเรือแล้ว

    หนุ่มขับชนไรเดอร์ได้ประกัน เมียรับศพ แกะมือที่กำแน่น บอกไม่ต้องแค้นเขาแล้ว

    • มกราคม 22, 2025
    • 5 views
    หนุ่มขับชนไรเดอร์ได้ประกัน เมียรับศพ แกะมือที่กำแน่น บอกไม่ต้องแค้นเขาแล้ว

    ‘ซีเกท’ เผยรับอานิสงส์ ‘AI’ จากดีมานด์ ’สตอเรจ’ พุ่ง

    • มกราคม 22, 2025
    • 2 views
    ‘ซีเกท’ เผยรับอานิสงส์ ‘AI’ จากดีมานด์ ’สตอเรจ’ พุ่ง

    5 ตลาดธุรกิจ LGBTQ ที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้

    • มกราคม 22, 2025
    • 5 views
    5 ตลาดธุรกิจ LGBTQ ที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้

    ศาลอาญาสั่งจำคุก 1 ปี ปรับ 1 แสน ทนายเดชา หมิ่น”อาจารย์อ็อด”

    • มกราคม 22, 2025
    • 2 views
    ศาลอาญาสั่งจำคุก 1 ปี ปรับ 1 แสน ทนายเดชา หมิ่น”อาจารย์อ็อด”

    ก.พ. 68 เพิ่มสลากดิจิทัลอีก 1 ล้านใบ ให้ผู้ซื้อเข้าถึงราคาที่เป็นธรรม

    • มกราคม 22, 2025
    • 3 views
    ก.พ. 68 เพิ่มสลากดิจิทัลอีก 1 ล้านใบ ให้ผู้ซื้อเข้าถึงราคาที่เป็นธรรม