เมื่อวันที่ 14. ม.ค. ที่ศาลาว่าการ กทม. 1 เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. แถลง Kickoff การลงทะเบียนโครงการบ้านนี้ไม่เทรวม เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนลดปริมาณขยะและลดค่าธรรมเนียม ตามข้อบัญญัติใหม่ที่คาดว่าจะประกาศใช้ในช่วงกลางปี 2568 ว่า ถือเป็นประวัติศาสตร์ที่ กทม. ได้ทำเรื่องนี้ ปัจจุบัน กทม.เสียค่าใช้จ่ายเก็บขยะประมาณ 7,000 ล้านบาทต่อปี และเก็บได้จริง 500 ล้านบาทต่อปี หากเราสามารถลดลงให้เป็นศูนย์ได้จะสามารถนำเงินไปใช้ในการศึกษา สาธารณสุข ดูแลผู้สูงอายุ ที่ผ่านมา กทม.จัดเก็บขยะได้ประมาณวันละ 10,000 ตันเกือบ 50% เป็นเศษอาหาร
“ในปี 2567 กทม.ชวนผู้ประกอบการรายใหญ่เข้าร่วมโครงการไม่เทรวม ช่วยแยกขยะลดได้ 10% แล้ว ในปีนี้จึงอยากชวนประชาชนที่อาศัยตามบ้านเรือน คอนโดฯ อพาร์ตเมนต์ต่างๆ เข้าร่วมการคัดแยกขยะ เพื่อช่วยเมืองไปด้วย ต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะเป็นเรื่องของนิสัยของคน ดังนั้นจึงต้องเริ่มแยกขยะได้เลยในวันนี้ โดยเริ่มที่ตัวเราก่อนง่ายๆด้วยการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการล่วงหน้า ผ่านแอปพลิเคชัน BKK Waste Pay” นาย ชัชชาติกล่าวและว่า ทั้งนี้ เมื่อลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้วในแอปฯ จะมีช่องให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการถ่ายรูปขยะที่ทำการคัดแยกแล้วอัปโหลดลงระบบเพื่อให้ตรวจสอบว่ามีการคัดแยกจริง โดยใช้ AI ทำหน้าที่ในการตรวจสอบรูปภาพว่าเป็นการคัดลอกมาจากผู้อื่นหรือไม่ รวมทั้งจะมีการติดสติกเกอร์แสดงหน้าอาคารที่เข้าร่วมโครงการ และแจกถุงขยะสีเขียวให้เพื่อคัดแยกว่าเป็นขยะเศษอาหาร จากนั้นก็จะนำไปแยกเก็บและแยกกำจัดตามระบบของสำนักสิ่งแวดล้อมต่อไป
ด้านนายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า จะเริ่มลงทะเบียนจริงวันที่ 1 ส.ค.68 จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่สนใจลงทะเบียนล่วงหน้าในการเข้าร่วมโครงการเพื่อสำนักงานเขตจะนำไประบุพิกัดบ้านที่มีการคัดแยกขยะ โดยจะ มีการลงทะเบียนแบบเดี่ยวสำหรับบ้านเรือน และแบบกลุ่มสำหรับคอนโดฯ อพาร์ตเมนต์ หมู่บ้านที่มีนิติบุคคลและกลุ่มชุมชน สำหรับขยะที่กรุงเทพฯขอความร่วมมือให้ประชาชนดำเนินการคัดแยกมี 4 ประเภทประกอบด้วยขยะเศษอาหาร ขยะรีไซเคิลขยะอันตราย และขยะทั่วไป เช่น ซองขนม เศษผ้า แก้วกาแฟ ถุงแกง กล่องโฟม ถุงพลาสติก เป็นต้น
ข้อมูล/ภาพ : ไทยรัฐ, แนวหน้า