ทันทีที่ทราบผลโดยทั่วกันว่า “หลานม่า” ได้สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรก ที่ผ่านเข้ารอบ 15 เรื่องสุดท้าย ชิงรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 97 ในสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม เมื่อกลางดึกที่ผ่านมา
เข้าสู่เช้าวันที่ 18 ธันวาคม 2567 “GDH” จึงได้เชิญสื่อมวลชนร่วมสัมภาษณ์ “พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์” ผู้กำกับ “ยายแต๋ว-อุษา เสมคำ” พร้อมด้วย 2 โปรดิวเซอร์ “เก้ง-จิระ มะลิกุล” และ “วัน-วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์” ถึงความสำเร็จของอีกขั้นของภาพยนตร์ ณ บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด ในซอยสุขุมวิท 31 ก่อนที่จะลุ้นว่าเรื่องใดจะเข้ารอบเป็น 5 เรื่องสุดท้าย ในวันที่ 17 มกราคม 2568
คนดูทำให้มาถึงจุดนี้
วัน วรรณฤดี เผยว่า รู้สึกดีใจและภูมิใจมาก เพราะการเข้ารอบ 15 เรื่องสุดท้าย เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์หนังไทย “จาก 85 เรื่อง คัดเหลือ 15 เรื่อง และลุ้นกันต่อว่าจะเป็น 5 เรื่องสุดท้ายได้หรือไม่…หนังไทยไม่เคยมาถึงจุดนี้ เป็นความดีใจและภูมิใจร่วมกันของทุกคน”
หนังที่จะได้รางวัลหรือหนังที่ออสการ์สนใจ มักต้องได้รางวัลในเทศกาลหนังต่าง ๆ มาก่อน แต่สำหรับหลานม่า สิ่งที่ผลักดันให้มาถึงจุดนี้คือคนดู ที่ดูจนกระทั่งฮิตเป็นกระแสในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ดี ทุกรางวัลที่หลานม่าได้มา หรือเทศกาลที่ไปร่วม ต่างมีส่วนทำให้หลานม่ามาถึงเวทีออสการ์ได้
“อย่าลืมว่าหลานม่าเป็นภาพยนตร์จากประเทศที่เล็กเมื่อเทียบกับในสหรัฐอเมริกา การที่เขาจะสนใจเรา เราก็ต้องมีความสำเร็จในบางด้าน ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จในประเทศตัวเอง ความสำเร็จในเทศกาลที่ไปร่วม หรือกระแสตอบรับจากคนดูในโซเซียลมีเดีย ที่ทำให้เขาสนใจมาก ๆ ว่าทำไมคนไปดูหลานม่ากันทั้งเอเชียแล้วถึงร้องไห้ขนาดนี้ ฝรั่งเขาก็อยากดู และเขาก็ร้องไห้เหมือนเรา” วัน วรรณฤดี กล่าว
เก้ง จิระ – วัน วรรณฤดี – แต๋ว อุษา – พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์
หลานม่า เป็น ‘สรณะ’
เก้ง จิระ เผยว่า ในฐานะคนทำหนังมา 20 ปี รางวัลถือเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ดังนั้น สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือทำหนังให้ดี ทำหนังที่ชอบ และทำหนังที่คนดูชอบ สำหรับ หลานม่า เป็นหนังที่ทำออกไปแล้วคนชอบ และทำให้เกิดบางอย่างที่มีประโยชน์ต่อคนดู
การผ่านเข้ารอบ 15 เรื่องสุดท้ายออสการ์ เป็นสิ่งมหัศจรรย์สำหรับทีมงานทุกคนและผู้กำกับ ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่ทำหนังเรื่องแรก รวมทั้ง ยายแต๋ว-อุษา ก็เป็นนักแสดงใหม่ สิ่งเหล่านี้คือความมหัศจรรย์ที่ควบคุมไม่ได้
“คนดูหนังแล้วรู้สึกนับถือตัวเอง ชอบตัวเอง ชอบการมีชีวิตอยู่…คนอินกับหนังขนาดที่ว่ารู้สึกดีกับหนังและเนื้อเรื่อง จนถึงรู้สึกว่าสิ่งนี้เป็น ‘สรณะ’ ที่จะนำไปใช้ชีวิตต่อไป ผมรู้สึกว่าทีมงาน คนเขียนบท ผู้กำกับ นักแสดงทุกคน ประสบควาสำเร็จแล้ว”
ครอบครัวเป็นเรื่องสากล หลานม่า ทัชใจทั่วโลก
หลานม่า เป็นภาพยนตร์ที่ทำให้ใครหลายคนนึกถึงความทรงจำที่มีกับครอบครัว ด้วยรูปแบบการเล่าเรื่องที่ตีแผ่ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว และนำเสนอประเด็นทางสังคมอย่างแยบยล จนเข้าถึงก้นบึ้งหัวใจและคล้ายกับชีวิตจริงของคนดู เกิดเป็นปรากฏการณ์น้ำตาแตก โดยเฉพาะคนดูในโลกฝั่งตะวันออกทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในประเทศจีน
หลานม่า ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “How to Make Millions Before Grandma Dies” เป็นหนังไทยในรอบหลายปีที่มีโอกาสได้เข้าฉายในโรงของทวีปยุโรปและอเมริกา แต่ในโลกตะวันตกจะมีความอินกับ หลานม่า มากน้อยแค่ไหน ด้วยความต่างของครอบครัว ตลอดจนสภาพสังคมและวัฒนธรรม
พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ เผยว่า ในตอนแรกคิดว่าเมื่อคนเอเชียดูหลานม่าก็คงรู้สึกคล้าย ๆ กัน แต่สำหรับฝั่งตะวันตกนั้นถือว่าเกินความคาดหมายมาก ในฐานะคนทำหนังจึงรู้สึกดีใจ เพราะมีคนเห็นในทุกจุด ทุกซีน ที่ทำ แปลว่าหนังได้ทำงานข้ามเรื่องตะวันออก – ตะวันตก ไปแล้ว แต่เป็การพูดถึงเรื่อง “คน” ด้วยกัน
ขณะที่ วัน วรรณฤดี กล่าวว่า “เรื่องครอบครัวเป็นเรื่องสากล ชาวต่างชาติในฝั่งตะวันตกเองก็มีความอินในเรื่องครอบครัวเช่นกัน เพียงแต่อาจจะไม่เหมือนกับฝั่งตะวันออกซะทีเดียวนัก”
ครั้งแรกของ ‘พัฒน์’ และ ‘ยายแต๋ว’
พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ เผยว่า แม้เป็นเรื่องแรก แต่ได้ทำงานร่วมกับโปรดิวเซอร์ที่มีประสบการณ์กว่า 20 ปี ทำให้ได้เรียนรู้ในทุกขั้นตอน และต่อยอดความรู้การทำหนังที่จากผู้มีประสบการณ์ที่สั่งสมมา
สำหรับการเป็นผู้กำกับครั้งแรก ไม่สามารถคาดหวังได้เลย ตั้งแต่ตอนปล่อยเทรลเลอร์หนัง ว่าคนดูจะชอบหรือไม่ เพียงทำในทุกขึ้นตอนตั้งแต่บทจนถึงการถ่ายทำให้ดีที่สุด รวมถึงมีทีมงานและนักแสดงที่เก่ง ที่สำคัญคือไม่เข้าข้างตัวเอง วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา ผิดตรงไหนก็แก้ไข ผลลัพธ์จึงเป็นสิ่งที่คนชอบ
“ระหว่างทางก็ไม่ค่อยท้อ เพราะเป็นคนชอบเอาชนะ เหมือนเอาชนะไปเรื่อย ๆ…หายเหนื่อยตั้งแต่วันที่เทรลเลอร์ถูกปล่อย ตั้งแต่วันที่คนบอกว่าอยากดูหนังเรื่องนี้มาก หลังจากนั้นคือกำไรหมดเลย”
ขณะที่ ยายแต๋ว อุษา เผยว่า ไม่คิดมาก่อนเหมือนกันว่าจะแสดงได้ และไม่คิดว่าจะหนังจะประสบความสำเร็จมากขนาดนี้ นับเป็นความดีใจมากที่สุดในชีวิต เพราะไม่เคยเล่นหนังมาก่อน
“ด้วยวัยนี้ก็ดีใจ ถ้าอยู่บ้านเฉย ๆ ก็เป็นคนแก่คนหนึ่ง แต่พอได้มาแสดงเรื่องนี้ เราก็เป็นอาม่าของหลาย ๆ คน”
พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ คือ ‘Magic’
เก้ง จิระ เผยว่า การทำงานของผู้กำกับรุ่นใหม่ ต่างจากเมื่อ 20 ปีที่แล้วมาก พัฒน์ เป็นคนมี Magic ตอนนี้เวลามองหาผู้กำกับหรือคนทำงานรุ่นใหม่ ฝีมืออาจไม่ได้ห่างกันมาก แต่สิ่งที่บางคนมีและบางคนไม่มีคือ Magic กล่าวคือ มีอะไรบางอย่างในผลงานที่ทำให้ต้องดูผลงานนั้นต่อไป หรือมี Magic บางอย่างในการกำกับ
“เป็นเหมือนสิ่งที่สั่งสมมาในชีวิต ซึ่งแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ พัฒน์ เป็นคนมี Magic ตรงนี้ มีเสน่ห์ ทำอะไรก็ดูน่าสนใจ ดูเข้าใจง่าย และในบทที่พูดถึงคนอารมณ์เยอะ ๆ มันเข้าถึงเรา…ผมว่า พัฒน์ เป็นอนาคตไม่ใช่แค่ของ GDH แต่เป็นของประเทศไทย”
ลุ้นเข้ารอบ 5 เรื่องสุดท้าย
วัน วรรณฤดี เผยว่า การประกวดหรือให้รางวัลภาพยนตร์ อาจไม่ได้ตัดสินกันชัดเจนเหมือนการแข่งขันกีฬา ที่เห็นสถิติของผู้เข้าแข่งขันจาก 15 ประเทศแล้วจะรู้ว่ามีลุ้นมากน้อยแค่ไหน ภาพยนตร์ทั้ง 15 เรื่องที่ผ่านเข้ารอบในครั้งนี้มาจากคนละประเทศ มีสภาพสังคมและวัฒนธรรมที่ต่างกัน ทุกเรื่องล้วนเป็นผู้ชนะมาแล้วหนึ่ง รอบ จาก 85 เรื่อง ดังนั้น ทุกเรื่องได้รับเกียรติและการยอมรับในระดับหนึ่ง
“ไม่เชิงการแข่งขัน แต่เป็นความสนใจ หรือเขาดูหนังเราแล้วอิน ถ้าเราจะได้เข้าไปเป็น 5 เรื่องสุดท้ายก็นับเป็นเกียรติของประเทศ แต่ก็ไม่ไดเหมายความว่า 10 เรื่องที่ไม่ได้จะแพ้ เพราะเรื่องศิลปะตัดสินกันยาก เพียงแต่รู้สึกได้รับเกียรติถ้าได้ไปอยู่บนเวทีที่ได้รับการยอมรับว่าเรามีมาตรฐาน และเป็นหนังของโลกใบนี้”
รางวัลออสการ์ ครั้งที่ 97 ในสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม ถือว่าพิเศษมาก เพราะรางวัลอื่น ๆ ของออสการ์จะให้กับหนังที่ฉายในอเมริกา แต่รางวัลนี้ ทุกเรื่องเป็นตัวแทนประเทศตัวเอง อาจจะไม่เคยฉายในอเมริกาก็ได้ จึงมีความหลากหลายจากทุกที่ทั่วโลก
“รางวัลนี้จึงเปรียบเหมือนการแสดงความยอมรับ ไม่ใช่แค่ยอมรับหนังเรื่องหลานม่า แต่ยอมรับในประเทศและสังคมด้วย เพราะในการผลักดัน หนังเรื่องนี้จะต้องประสบความสำเร็จในประเทศตัวเอง และได้รับเลือเป็นตัวแทนประเทศ เมื่อมีประเทศอื่นยอมรับ แสดงว่ายอมรับกระบวนการทั้งหมดในประเทศด้วย เป็นก้าวเดียวกันของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่ความสำเร็จของคนใดคนหนึ่ง หรือบริษัทหนึ่ง”
ทุกคนจะมองเห็นในความเป็นไปได้ ซึ่งสำคัญมาก ในฐานะคนทำหนังมาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ก็ไม่คิดว่าจะเดินมาถึงจุดนี้ แค่อยากทำเป็นอาชีพ ทำให้คนดูหนังชอบ แต่เมื่อทำไปก็เริ่มรู้สึกว่าหนังของเราก็มีมาตรฐานใกล้เคียงกับที่เห็นบนเวทีรางวัล
“ณ วันนี้ หลานม่า ตลอดจน พัฒน์ ยายแต๋ว และคนทำหนังทุกคนในเรื่องนี้ ก็จะเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้กำกับรุ่นใหม่ ๆ หรือแม้แต่ผู้กำกับทุกคนใน GDH มันจะเป็นไฟ มีคนไทยคนนึงทำได้ เราก็เป็นไปได้ จากที่เรามองไม่เห็นความเป็นไปได้เลย”
ทั้งนี้ วัน วรรณฤดี เผยว่า ปัจจุบัน หลานม่า ทำเงินทั่วโลกจากรายได้ค่าตั๋ว 2 พันล้านบาท ซึ่งถือเป็นหนังไทยที่ทำรายได้จากการฉายทั่วโลกมากที่สุด
ข้อมูล/ภาพ : ประชาชาติ