ปัจจุบัน “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ได้ฤกษ์เดินหน้าเตรียมก่อสร้างแล้ว หลังจากติดปัญหาการฟ้องร้องต่อศาลปกครองถึงการประมูลโครงการฯ ที่อาจไม่เป็นธรรมกับเอกชนบางราย จนได้ข้อสรุปเป็นที่สิ้นสุดมานานกว่า 2-3 ปี
นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทน ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท
ขณะนี้ยังมีเวลาพอสมควร เพราะต้องดำเนินการก่อสร้างงานโยธาสายตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร แล้วเสร็จก่อน
โดยเฉพาะการเข้าพื้นที่ ซึ่งเอกชนผู้รับสัมปทาน หรือ บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ได้เริ่มงานเมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 จะใช้เวลาก่อสร้างงานโยธา 6 ปี และเปิดให้บริการปลายปี 2573
ทั้งนี้ตามแผนการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก เอกชนผู้รับสัมปทานต้องเข้าพื้นที่สาธารณะที่แรกเพื่อดำเนินการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคก่อน ภายใน 4 เดือน หรือประมาณเดือนพฤศจิกายน 2567
ปัจจุบันพบว่า BEM สามารถเข้าพื้นที่ดังกล่าวเพื่อสำรวจแนวทางการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค ระบบสื่อสาร ท่อประปาแล้ว ซึ่งเร็วกว่าแผน 1 เดือน เนื่องจากได้รับการอนุญาตจากกรุงเทพมหานคร (กทม.)
นายวิทยา กล่าวต่อว่า ส่วนแผนการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคนั้น เบื้องต้นจะดำเนินการออกแบบรายละเอียดเพื่อขุดสำรวจและรื้อย้ายระบบฯก่อนลงพื้นที่ก่อสร้างต่อไป จะใช้ระยะเวลาประมาณ 4-11 เดือน
โดยเฉพาะพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ สถานีสนามหลวง สถานีศิริราช อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บริเวณถนนผ่านฟ้าลีลาศ จะใช้เวลาขุดเจาะด้านโบราณคดีเพื่อสำรวจประมาณ 4-6 เดือน
ส่วนพื้นที่แรกที่จะเริ่มก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มได้ คือ ประตูน้ำ คาดว่าจะลงพื้นที่ได้ภายในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2568
ขณะเดียวกันพบว่ามีพื้นที่ที่มีความจำเป็นต้องรื้อย้ายสะพานในกรุงเทพฯบางแห่ง โดยเฉพาะสะพานข้ามแยกประตูน้ำ แยกราชเทวี
ทั้งนี้ต้องรอออกออกแบบรายละเอียดก่อนว่าจะดำเนินการรื้อย้ายออกไปเลยหรือก่อสร้างใหม่ เพื่อไม่ให้กระทบต่อฐานรากเดิมของสะพาน เบื้องต้นจากการหารือกับกทม.นั้นมีความเห็นว่าอยากให้ปรับปรุงสะพานบริเวณดังกล่าวด้วย
นายวิทยา กล่าวต่อว่า ด้านการเวนคืนที่ดินนั้น ยังเป็นไปตามแผน ปัจจุบันได้ดำเนินการเตรียมพื้นที่ที่ความจำเป็นต้องเวนคืนที่ดินก่อนเพื่อดำเนินการก่อสร้างภายใน 300-400 วันหลังจากลงนามสัญญา มั่นใจว่าจะส่งมอบพื้นที่ให้แก่เอกชนได้ตามสัญญา ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้
สำหรับพื้นที่การเวนคืนที่ดินรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่แนวทางขึ้น-ลง แต่ละสถานีรถไฟฟ้า และปล่องระบายอากาศบริเวณภายนอกสถานี
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบ ที่ดินที่ถูกเวนคืน 380 แปลง และที่ดินที่ต้องกำหนดลักษณะภาระในอสังหาริมทรัพย์ 410 แปลง และต้องรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างประมาณ 400 หลัง
โดยมีค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์โครงการส่วนตะวันตกมีกรอบวงเงิน 14,661 ล้านบาท
นายวิทยา กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร ปัจจุบันผู้รับสัมปทานได้เตรียมนำระบบรถไฟฟ้า (M&E) เข้าไปดำเนินการ โดยในระหว่างนี้ได้ดำเนินการคัดเลือกจ้างบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ ด้วย
หากกระบวนการแล้วเสร็จจะสามารถเดินหน้าได้ทันที นอกจากนี้การจัดหารถสายตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี จะใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 2 ปี
ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอ BEM พิจารณารูปแบบของขบวนรถไฟฟ้า ที่ต้องหารือร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาด้วย ซึ่งมีแนวโน้มที่จะใช้รูปแบบขบวนรถไฟฟ้าใกล้เคียงกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เนื่องจากเป็นแนวเส้นทางที่เชื่อมต่อระหว่างกัน ตามแผนคาดว่าจะเดินรถได้ภายในปลายปี 2570 หรือต้นปี 2571
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 35.9 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 27 กิโลเมตร และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 8.9 กิโลเมตร จำนวน 28 สถานี แบ่งเป็นสถานีใต้ดิน 21 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี
เมกะโปรเจ็กต์หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,040 วันที่ 31 ต.ค. – 2 พ.ย. พ.ศ. 2567
ข้อมูล/ภาพ : ฐานเศรษฐกิจ