“สวนสยาม” เสนอที่ 500 ไร่ทำเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เชื่อมสวนน้ำ-สวนสนุก ขอความชัดเจนเรื่องใบอนุญาตและเงื่อนไข แนะรัฐควรมีโครงการมากกว่า 1 แห่ง พร้อมแปลงสินทรัพย์เป็นทุนรวมมูลค่าราว 50,000 ล้านบาท ด้านกระทรวงการคลังเตรียมเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร เข้าสู่การพิจารณาของ ครม.เร็วที่สุด ต่อด้วยการจ้างที่ปรึกษาเลือกพื้นที่ ค่าเข้า ใบอนุญาตควรมีราคาเท่าไหร่
โครงการเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ (Entertainment Complex) ในภาครัฐบาลยังคงเดินหน้าต่อไป หลัง ครม.รับทราบรายงานผลการศึกษาของ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร เพื่อแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมายและประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศของ สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา
ล่าสุด นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ออกมากล่าวว่า หลังการประชุมส่วนงานที่เกี่ยวข้องในการศึกษาการพิจารณาเปิดสถานบันเทิงครบวงจรว่า ได้ข้อสรุปทั้งหมดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากนั้นจะมีการรายงานความคืบหน้าไปให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบในเร็ว ๆ นี้ ขณะที่ภาคเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศได้แสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในโครงการนี้ โดยรายล่าสุดเป็น กลุ่มบริษัทสยามพาร์คซิตี้ หรือ “สวนสยาม” ได้เสนอตัวพร้อมที่จะทำเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ทันที
ภารกิจสุดท้ายเพื่อชาติ
ดร.ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ ประธานบริหารกลุ่มบริษัทสยามพาร์คซิตี้ ผู้ดำเนินธุรกิจสยามอะเมซิ่งพาร์ค สวนน้ำและสวนสนุกชั้นนำของไทย (สวนสยาม) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธุรกิจของกลุ่มบริษัทสยามพาร์คซิตี้ต้องปรับตัวให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคหรือกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป ประกอบกับรัฐบาลที่มีการประกาศนโยบายในการผลักดัน “เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” และ “กาสิโนถูกกฎหมาย” จึงมองเห็นโอกาสในการดึงเอาเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศเข้ามาปรับปรุงและพัฒนาสวนน้ำ-สวนสนุก
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาจะมีเสียงวิจารณ์และคัดค้านถึงเรื่องการเปิด “เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ิ เพราะ “ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ” แต่ตนกลับมองว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องมี เพราะถ้าไม่มี ประเทศชาติจะเดินหน้าต่อได้ลำบาก เนื่องจากหลายประเทศในโลกต่างก็มีเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไป ประกอบกับเทรนด์ของนักท่องเที่ยวในปัจจุบันก็เปลี่ยนไป เพราะเมื่อเขาไปเที่ยวประเทศไหนแล้วก็มักจะไปเสี่ยงโชคเหมือนคาดหวังว่า มาเที่ยวแล้วก็จะได้โชคกลับบ้านหรือได้พักผ่อนหย่อนใจในกาสิโน
ดร.ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ
“ประเทศอื่น ๆ ที่อยู่รอบข้างเราอย่าง กัมพูชา ลาว เมียนมา หรือมาเก๊า เขาก็มีเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์กันหมดแล้ว ถ้าประเทศเราไม่มีนี่ถือเป็นเรื่องแปลก แม้จะมีบางคนที่คัดค้านและอ้างว่า การมีกาสิโนจะทำให้ประเทศชาติเสียหายเพราะเป็นการทำให้คนมัวเมา แต่เราต้องบอกเหตุผลว่า คนที่จะเข้าไปใช้บริการในกาสิโนต้องเป็นคนที่มีเงินเท่านั้น เพราะคนกลุ่มนี้ถึงเขาไม่ได้เล่นที่ประเทศไทย เขาก็ต้องไปเล่นที่ประเทศเพื่อนบ้านอยู่แล้ว
ส่วนคนทั่วไปก็ให้ไปใช้บริการโซนสวนสนุก เพราะภายหลังจากที่มีรายได้และกำไรจากเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กแล้ว เราก็จะทำให้สวนสนุกมีการพัฒนาและอัพเกรด ทำให้ราคาค่าเข้าถูกลงและค่าอาหารถูกลง แต่ถ้าไม่มีเงินจากส่วนนี้ เราก็ไม่มีงบฯที่จะไปอัพเกรดเครื่องเล่น หรือทำให้สินค้าในสวนสนุกถูกลงได้” ดร.ไชยวัฒน์กล่าว
เนรมิตพื้นที่ 217 ไร่
สำหรับแผนเบื้องต้นของกลุ่มสยามพาร์คซิตี้ สำหรับโครงการเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ก็คือ ขยายพื้นที่ข้างเคียงของสวนสยามอีก 217 ไร่ จากพันธมิตรคนสนิท รวมทั้งหมดจะทำให้เรามีพื้นที่เกือบ 500 ไร่ เนรมิตออกมาเป็นหลากหลายยูนิต อาทิ โรงแรมและกาสิโน, ทะเลสาบขนาดใหญ่, ฟู้ดเดสติเนชั่น, สนามกีฬาในร่ม, ศูนย์วัฒนธรรมแต่ละภาค, Grand Area, Wellness Resort “ผมคิดว่า ทำเลของสวนสยามนั้น ใช่ ทั้งขนาดและระบบขนส่งสาธารณะ เดินทางไม่ยากจากสนามบินทั้งดอนเมืองและสุวรรณภูมิ แถมยังมีรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่เอื้อต่อการเดินทางด้วย”
นอกจากนี้จากการที่ สวนสยาม ดำเนินธุรกิจมาอย่างยาวนาน และนายวุฒิชัย เหลืองอมรเลิศ (บุตรชาย) ก็ยังเป็นประธานสมาคมสวนสนุกโลก ดังนั้นจึงมีความสัมพันธ์อันดีกับนักธุรกิจที่อยู่ในวงการเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันมีพันธมิตรที่เป็นกลุ่มทุนต่างชาติที่ให้ความสนใจและพร้อมร่วมทุน คือ กลุ่มทุนจากประเทศซาอุดีอาระเบียและมาเก๊า หากรัฐบาลให้กลุ่มสยามพาร์คซิตี้เป็น 1 ในผู้รับใบอนุญาตเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ก็สามารถเดินหน้าโครงการได้เลย
“ปัจจุบันกลุ่มสยามพาร์คซิตี้ ถูกส่งไม้ต่อให้กับทายาทรุ่นที่ 2 คือลูก ๆ แล้ว แต่ภายหลังจากรัฐบาลประกาศนโยบายในการผลักดัน ‘เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์’ และกาสิโนถูกกฎหมาย ผมก็กลับเข้ามาเพราะอยากทำเพื่อประเทศชาติเป็นครั้งสุดท้าย แม้จะโดนด่าหรือมีผู้ตั้งคำถามในเชิงศีลธรรมว่า ทำความดีมาตลอดชีวิต แต่กลับมาทำเรื่องนี้ ก็คิดว่าไม่ได้เป็นเรื่องที่เสียหาย
ถ้าผมมีเงิน ก่อนผมตาย ผมสามารถทำได้ทุกอย่าง ผมอยู่ในโลกความเป็นจริงมา 87 ปีแล้ว ผ่านมาทุกอย่าง ตั้งแต่เป็นคนจนไม่มีเงินใช้ จากขอทานกลายเป็นมหาเศรษฐี จากมหาเศรษฐีแล้วก็คงตาย ตายแล้วก็เอาอะไรไปไม่ได้ ไม่มีอะไรเป็นของเราในโลกนี้ แต่เรื่องนี้ผมอยากทำเพื่อประเทศชาติเป็นครั้งสุดท้าย” ดร.ไชยวัฒน์กล่าว
ทำเลพร้อม-ลงทุนได้ทันที
นายวุฒิชัย เหลืองอมรเลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทสยามพาร์คซิตี้ ผู้ประกอบกิจการสยามอะเมซิ่งพาร์ค (สวนสยาม) ธุรกิจสวนน้ำ-สวนสนุก และ นายกสมาคมสวนสนุกและสวนพักผ่อนหย่อนใจแห่งประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สวนสยามมีความพร้อมที่จะเสนอตัวเป็นทางเลือกสำหรับการลงทุนใน โครงการเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ตามนโยบายรัฐบาล โดยมองว่า สวนสยามเป็นทางเลือกที่เหมาะสม เนื่องจากทำเลที่ตั้งอยู่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก
ขณะเดียวกันก็ใกล้กับเมืองท่องเที่ยวอื่นโดยเฉพาะ เมืองพัทยา (ชลบุรี) และอยู่ไม่ห่างจากสนามบินหลักทั้งสุวรรณภูมิและดอนเมือง รวมถึงการคมนาคมทางบกอื่น ๆ ทั้งทางด่วน รถไฟฟ้า ถนนวงแหวนขึ้นสู่จังหวัดภาคเหนือ-ตะวันออกเฉียงเหนือ และมอเตอร์เวย์ไปจังหวัดภาคตะวันออก
นอกจากนี้สวนสยามยังเป็นทำเลที่มีพื้นที่รองรับรวมไม่ต่ำกว่า 500 ไร่ แบ่งเป็นที่ดินของกลุ่มสวนสยามเองประมาณ 250 ไร่ และที่ดินของพันธมิตรในบริเวณโดยรอบอีกไม่ต่ำกว่า 250 ไร่ ที่มีความพร้อมที่จะเดินหน้าลงทุนร่วมกัน “ถ้ารัฐบาลเลือกเรา โครงการเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์จะสามารถเดินหน้าได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาเวนคืนที่ดิน เพราะเป็นที่ดินของเราทั้งหมด ที่สำคัญยังเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับสวนน้ำ สวนสนุก ซึ่งมีพื้นที่ที่ค่อนข้างใหญ่ สามารถตอบโจทย์นักลงทุนได้ทันที นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ที่ประกอบธุรกิจอยู่แล้ว และคนก็รู้จักแล้วว่าพื้นที่ดังกล่าวนี้เป็นพื้นที่ประกอบธุรกิจ ไม่ใช่ไปเอาที่ดินที่เป็นที่พักอาศัยมาพัฒนา” นายวุฒิชัยกล่าว
ลุ้นความชัดเจนใบอนุญาต
นายวุฒิชัยกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมากลุ่มสวนสยามได้พูดคุยกับพันธมิตรที่อยู่ในธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์หลากหลายธุรกิจทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ทุกคนให้ความสนใจและตอบรับร่วมลงทุน เพียงแต่ยังรอดูรายละเอียดและความชัดเจนของรัฐบาลในเรื่องของการลงทุนรวมถึงใบอนุญาต ว่าจะออกให้กี่ใบ แบ่งเป็นในกรุงเทพฯกี่ใบและต่างจังหวัดกี่ใบ
“เราคุยมาหมดแล้วในสายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ทั้งร้านอาหาร แหล่งบันเทิง โชว์ โรงแรม เหลือแค่กาสิโน “หากทุกอย่างชัดเจนไม่ใช่เรื่องยากครับ เราหาแค่คนทำกาสิโนมาเสริมเท่านั้น” ผมว่าหากมีโอกาสนักลงทุนทุกคนอยากลงทุนหมด ยกเว้น บางกลุ่มที่มีความเชื่อทางศาสนาเขาอาจจะไม่เอา” นายวุฒิชัยกล่าว
ส่วนตัวเชื่อมั่นว่า เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์เป็นทางออกที่ดีของทุกคน รัฐบาลก็ได้สิ่งที่ต้องการและทำได้เร็ว ไม่ต้องรอเวนคืนที่ดิน ในส่วนของสวนสยามเองก็สามารถต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่ได้ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ทำอยู่แล้ว ที่สำคัญโครงการดังกล่าวเป็นประโยชน์สำหรับประเทศไทยอย่างมาก โครงการเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ควรเกิดขึ้นพร้อมกันมากกว่า 1 แห่ง แต่ก็ไม่ควรมากเกินไปและควรทำโครงการแรกให้สำเร็จก่อน แล้วค่อยขยายผลเพิ่มเติม
ในส่วนของสวนสยามเองพร้อมที่จะแปลงสินทรัพย์ประกอบด้วยที่ดิน 250 ไร่ รวมทั้งสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่สวนสยามทั้งหมดเป็นทุน ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าราว 50,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะเป็นการร่วมลงทุนของกลุ่มพันธมิตร
“ผมมองว่า ธุรกิจสไตล์นี้ถ้าเป็นไปได้ควรเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้เป็นมหาชน ซึ่งเราก็มีแผนเรื่องการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้วเช่นกัน แต่อาจต้องใช้เวลาอีกหลายปี เพราะที่ผ่านมาเจอวิกฤตโควิดทำให้ตัวเลขรายได้ไม่สวยนัก ในช่วงนี้เราจึงพยายามขับเคลื่อนและพัฒนาให้ธุรกิจสามารถกลับมาได้อย่างแข็งแรงก่อน” นายวุฒิชัยกล่าว
ร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร
จุดเริ่มต้นของ โครงการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร หรือ Entertainment Complex หลังจากที่ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 ถึงผลการศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจรเพื่อแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมายและเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศของ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจรแล้วนั้น ในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น (นายเศรษฐา ทวีสิน) ได้มอบหมายให้ กระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ในการพิจารณาแนวทางและความเหมาะสมในการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร โดยเร่งรัดขอให้มีการพิจารณาโดยเร็วและให้พิจารณาจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการเปิดสถานบันเทิงครบวงจรและแผนการจัดทำกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย
สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร มีสาระสำคัญอยู่ที่ 1) การตั้งคณะกรรมการนโยบายประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเพื่อกำหนดนโยบายจัดตั้ง/บริหารสถานบันเทิงครบวงจร พร้อมทั้งออก “ใบอนุญาต” และ อัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาต รวมถึงจัดทำบัญชีแนบท้ายประเภทธุรกิจที่จะเปิดดำเนินการในสถานบันเทิงครบวงจรด้วย 2) คณะกรรมการบริหาร มีหน้าที่บริหารกองทุนและพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสถานบันเทิงครบวงจร
3) สำนักงานกำกับการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือ สนง.กธบ. มีฐานะเป็นนิติบุคคล แต่ไม่ใช่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ มีหน้าที่จัดทำแผนยุทธศาสตร์สถานบันเทิงครบวงจร ตรวจสอบและติดตามผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ โดย สนง.กธบ.จะมีรายได้ค่าธรรมเนียมการขออนุญาต ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการสถานบันเทิงครบวงจร รวมทั้ง มีอำนาจสั่งการให้หยุดการเล่นใด ๆ ใน “กาสิโน” ก็ได้ 4) ใบอนุญาต จะออกให้โดย คณกรรมการนโยบายประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ผู้ขออนุญาตจะต้องเป็น นิติบุคคล ซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทย มีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท
โดยผู้ขออนุญาตจะต้องยื่นเอกสารแสดงการครอบครองการใช้ประโยชน์จากที่ดินที่จะนำมาประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร แผนผัง อาคาร รูปทรง สถานบันเทิง และเอกสารแสดงแหล่งเงินทุนที่เพียงพอในการประกอบธุรกิจ โดย “ใบอนุญาต” ที่ออกให้จะมีอายุ 30 ปี ต่ออายุได้คราวละไม่เกิน 10 ปี และ ห้ามโอนสิทธิใบอนุญาตให้กับบุคคลอื่น ตัวสถานบันเทิงครบวงจรจะต้องตั้งอยู่ในบริเวณเขตพื้นที่ตามที่ คณะกรรมการนโยบายประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรเป็นผู้ประกาศ และ 5) จัดให้มี กองทุนป้องกันและฟื้นฟูผลกระทบจากการประกอบกิจการสถานบันเทิงครบวงจร โดยเบื้องต้นกองทุนนี้จะมีเงินทุนประเดิมจากรัฐบาลก่อนและเงินที่ได้ตาม พ.ร.บ.นี้
ร่าง กม.กาสิโนพร้อมเข้า ครม.
มีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเข้ามาว่า กระทรวงการคลังได้สรุปผลการรับฟังความคิดเห็น ร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. …(Entertainment Complex) แล้ว อยู่ระหว่างเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา หลังจากกฎหมายผ่านก็จะมีการตั้ง คณะกรรมการนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร และว่าจ้างที่ปรึกษามาศึกษาในรายละเอียดในเรื่องของการเลือกพื้นที่ อาจมีหลายแห่งได้ ค่าเข้าและใบอนุญาต ควรจะมีราคาเท่าไหร่ ถึงจะเหมาะสมต่อการดึงดูดการลงทุน
ทั้งนี้ในระยะแรกของการลงทุนจะต้องมีระดับ 100,000 ล้านบาทขึ้นไป โดยเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์จะประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ เช่น สนามกีฬา, งานแสดง, สวนสาธารณะ, สวนน้ำ-สวนสนุก อาจมีสัดส่วนกาสิโนเพียง 5%
ส่วนรายละเอียดแนบท้ายร่าง พ.ร.บ. เช่น ค่าเข้าสถานประกอบการกาสิโนของผู้มีสัญชาติไทยครั้งละ 5,000 บาท, ค่าใบอนุญาตครั้งแรก 5,000 ล้านบาทต่อปี, รายปี 1,000 ล้านบาทนั้น เป็นเพดานสูงสุดที่ต้องกำหนดไว้ โดยรายได้ที่รัฐบาลจะได้จาก เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ จะมาจาก 3 ส่วน คือ 1) ใบอนุญาตประกอบการ แบ่งตาม มูลค่าการลงทุน ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่อนุญาต ได้แก่ Size S, M, L และ XL มีทั้งจ่ายครั้งแรกและรายปี (ระยะแรก XL)…
2) ภาษี เก็บจากผู้ประกอบการ คิดจากรายได้ขั้นต้นจากการเล่นพนัน (Gross Gaming Revenue : GGR) คือ รายได้หลังการหักค่าใช้จ่ายเบื้องต้นที่ผู้ประกอบการได้จากผู้เล่นพนัน และ 3) ค่าธรรมเนียมการเข้าใช้บริการ เพื่อเป็นการป้องกันคนไทยที่เป็นกลุ่มเปราะบางเข้าใช้บริการ จะมีการเก็บภาษีการเข้าใช้บริการในอัตราที่เหมาะสมกับฐานรายได้ของคนไทย
สำหรับข้อ 2 เรื่องภาษีนั้น หากพิจารณาเปรียบเทียบกับต่างประเทศ เช่น เมืองลาสเวกัส รัฐเนวาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา เก็บภาษีกาสิโนร้อยละ 10 ของ GGR ส่วนประเทศสิงคโปร์ เก็บเฉลี่ยร้อยละ 17 ของ GGR โดยมีการเก็บ 2 รูปแบบ คือ ลูกค้า VIP เรตหนึ่ง ลูกค้าทั่วไปเรตหนึ่ง เพื่อดึงดูด VIP เข้ามา โดยตัวชี้วัด VIP คือเงินฝากในระดับนั้น ๆ
ไทย-เทศสนใจกาสิโน
ที่ผ่านมามีหลายกลุ่มทุนที่แสดงความสนใจจะลงทุน เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ อาทิ กลุ่มราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย หรือ สนามม้านางเลิ้ง ร่วมกับบริษัท Royal Sport Complex จำกัด หรือ RSC โดยระบุว่าอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรที่จะร่วมลงทุน 4 ราย เล็งพื้นที่กรุงเทพฯ ทำเลในเมือง 3 แห่ง ได้แก่ หนองจอก พื้นที่กว่า 1,000 ไร่ ลาดกระบัง 2,000 ไร่ และท่าเรือคลองเตย กว่า 2,300 ไร่ คาดว่าใช้เวลาประมาณ 7 ปี ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป ภายใต้ชื่อโครงการ The Royal Siam Haven
กลุ่ม UTA ได้แก่ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส บริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ต้องการต่อยอด โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก นอกจากนี้มีบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการกาสิโนระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Las Vegas Sands Corporation , กลุ่ม Wynn Resorts , กลุ่ม Caesars Entertainment , กลุ่ม MGM China Holdings Limited และกลุ่ม Hard Rock Cafe ที่แสดงความสนใจลงทุนด้วยเช่นกัน
ข้อมูล/ภาพ : ประชาชาติ