นายพิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เผยดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำประจำเดือน ม.ค.68 อยู่ที่ 68.31 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 1.10 จุด หรือ 1.63% จากเดือน ธ.ค.67 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 67.21 จุด โดยปัจจัยที่สนับสนุนให้ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ นโยบายทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ, นโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED), ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย และการอ่อนค่าของเงินบาท
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำ ระยะ 3 เดือนในไตรมาสแรกของปี 2568 อยู่ที่ 56.12 จุด ปรับลดลง 12.96 จุด หรือ 18.76% จากไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 69.08 จุด โดยปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ ทิศทางนโยบายทางการเงินของ FED, การแข็งค่าของเงินบาท, กระแสเงินทุนไหลเข้าสู่ดอลลาร์, สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเชีย-ยูเครน เริ่มคลี่คลาย, นโยบายทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ
โดยคาดการณ์ความต้องการซื้อทองคำในช่วงเดือน ม.ค.68 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 360 ราย พบว่า มี 210 ราย หรือ 58% คาดว่าจะซื้อทองคำ ส่วนอีก 90 ราย หรือ 25% คาดว่าจะไม่ซื้อทองคำ และที่เหลือ 60 ราย หรือ 17% ไม่แน่ใจว่าจะซื้อทองคำในเดือนนี้หรือไม่
ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่ และผู้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ที่อ้างอิงกับราคาทองคำจำนวน 13 ราย ในจำนวนนี้มี 6 ราย หรือเป็น 46% เชื่อว่าราคาทองคำในเดือน ม.ค.68 จะเพิ่มขึ้น ส่วนอีก 4 ราย หรือ 31% คาดว่าจะลดลง และที่เหลืออีก 3 ราย หรือ 23% คาดว่าจะใกล้เคียงกับราคาทองคำในเดือน ธ.ค.67
สำหรับการคาดการณ์กรอบราคาทองคำในเดือน ม.ค.68 ของผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่มีมุมมอง ดังนี้
– ราคาทองคำตลาดโลก (Gold Spot) ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 2,590-2,708 ดอลลาร์/ออนซ์
– ราคาทองคำแท่งในประเทศ ความบริสุทธิ์ 96.5% ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 42,500- 44,500 บาท/บาททองคำ
ขณะที่ค่าเงินบาท ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 34.03-35.16 บาท/ดอลลาร์
การลงทุนในเดือน ม.ค.68 ราคาทองคำมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบแคบ โดยราคาทองยังพยายามสร้างฐานเพื่อรักษาระดับ แต่ยังไม่ปรากฏทิศทางที่ชัดเจนในระยะยาว แม้ว่าราคาจะมีโอกาสปรับตัวขึ้นในบางช่วง แต่หากยังคงอยู่ในกรอบที่จำกัด และไม่สามารถผ่านแนวต้านสำคัญได้ อาจเกิดแรงขายทำกำไร ที่ส่งผลให้ราคาปรับตัวลดลงมาอีกครั้ง
โดยนักลงทุนควรติดตามปัจจัยสำคัญอย่างใกล้ชิด เช่น นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ และนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจโลก เพื่อปรับกลยุทธ์การลงทุนอย่างเหมาะสม ลดความเสี่ยง และเพิ่มโอกาสในการทำกำไร ทั้งนี้ การตัดสินใจลงทุนในช่วงเวลาที่ตลาดยังมีความไม่แน่นอนสูง ต้องอาศัยความระมัดระวัง และการประเมินข้อมูลอย่างรอบด้าน
ข้อมูล/ภาพ : สำนักข่าวอินโฟเควสท์ , ไทยรัฐ