สำรวจ “ปลาหมอคางดำ” หลังเกิดน้ำหลากในลุ่มน้ำปากพนังช่วงปลายปี 2567 ระบาดเกินควบคุมแล้ว กระทบต่อความหลากหลายพันธุ์ปลาพื้นถิ่นสูญหายไปเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์
วันที่ 7 ม.ค. 68 มีรายงานว่า สถานการณ์การระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง โดยเฉพาะชายฝั่งทะเล อ.ปากพนัง อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ยาวไปจนถึง อ.ระโนด อ.สทิงพระ จ.สงขลา อาณาเขตหลายร้อยตารางกิโลเมตร ดูเหมือนจะควบคุมสถานการณ์ไม่ได้แล้ว สืบเนื่องจากน้ำหลากเมื่อช่วงปลายปี 2567 มีน้ำท่วมสูงในพื้นที่ หลายจุดมีระดับข้ามคันบ่อหรือคันคลองต่างๆ ทำให้การกระจายตัวของปลาหมอคางดำไปยังทุกแหล่งน้ำ โดยเฉพาะบ่อกุ้งร้างที่มีนับพันบ่อ บ่อพักน้ำ ลำบาง คลองไส้ไก่เชื่อมต่อทุกแหล่งน้ำธรรมชาติพื้นที่ตำบลท่าพญา อ.ปากพนัง เป็นหนึ่งในจุดระบาดหนัก
เมื่อเข้าตรวจสอบตามแหล่งน้ำ ทุกจุดที่มีการทอดแหเต็มไปด้วยปลาหมอคางดำ ทุกขนาดการทอดแหแต่ละครั้งกว่าร้อยละ 90 เป็นปลาหมอคางดำทั้งหมด และเป็นที่น่าสังเกตว่าการแพร่ระบาดนั้นมีปริมาณเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวจากกลุ่มลูกปลาวัยก่อนกระจายอยู่เต็มลำน้ำ
นายสมศักดิ์ หมกทอง ชาวบ้านริมประตูน้ำท่าพญา ระบุว่านอกจากน้ำท่วมสูงข้ามคันบ่อกุ้งสร้างความเสียหายให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลากะพง แต่สิ่งที่มากับน้ำคือปลาหมอคางดำที่เชื่อมไปยังทุกแหล่งน้ำ โดยเฉพาะบ่อปิดที่ไม่เคยมีปลาหมอคางดำวันนี้มีทุกบ่อแล้ว
อีกปัจจัยสำคัญคือการเปิดประตูกั้นน้ำเค็มและน้ำจืด จากเดิมปลาหมอคางดำชุกชุมอยู่ในพื้นที่น้ำเค็ม เมื่อเปิดประตูระบายน้ำท่วมจากชั้นในออกสู่ทะเล ปลาว่ายทวนน้ำขึ้นไปอาศัยอยู่ในเขตน้ำจืดแล้ว เฉพาะหน้าประตูประเมินด้วยสายตามากกว่า 5 แสนตัว ดังนั้นสถานการณ์ของความหลากหลายพันธุ์ปลาพื้นถิ่นจึงสูญหายไปเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์
ข้อมูล/ภาพ : ไทยรัฐ